มข.จับมือ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ เดินหน้าผลิตและวิจัยสายพันธุ์กัญชง-กัญชา สู่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ หลังพบตลาดจีน และอเมริกา ต้องการสมุนไพรไทยอย่างมาก
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 3 ส.ค.2564 ที่สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. พร้อมด้วย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น,นายจุลภาส เครือโสภณ ,นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โกลเด้น ไตรแองเกิล เฮลท์ จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและสกัดกัญชงกัญชา ของสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ โดยมีนักวิชาการด้านกัญชงและกัญชา รวมไปถึงผู้ที่ให้ความสนใจในการวิจัยกัญชงและกัญชา ร่วมเป็นสักขีพยานจำนวนมาก
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข.ความร่วมมือทางวิชาการที่เกิดขึ้นร่วมระหว่าง มข. กับ 2 บริษัทฯชั้นนำด้านสมุนไพรไทย วันนี้จากนี้ไปจะเป็นการพัฒนาโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและสกัดกัญชง เพื่อต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยที่สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ จะเป็นแม่งานหลักทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาและกัญชง ให้สามารถต่อยอดสู่การนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้สถาบันฯได้วิจัยกัญชง และกัญชา ไปในด้านของการปรับปรุงพันธุ์ การวิเคราะห์สาระสำคัญ รวมไปถึงรูปแบบยา และการวิจัยคลินิกทางการแพทย์และสัตวแพทย์ เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธุ์กัญชงและกัญชา เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่องต่อไป
“ การดำเนินงานดังกล่าวนั้นสถาบันฯจะต้องแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานทีมีประสบการณ์และสามารถที่จะต่อยอดองค์ความรู้ทั้งทางด้านของงานวิจัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ที่จะนำผลตอบแทนมาหมุนเวียนในการร่วมกันพัฒนางานวิจัยในกลุ่มกัญชงและกัญชาให้มากยิ่งขึ้น ซึ่ง 2 บริษัทฯ ที่ได้ประสานความร่วมมือดังกล่าวนั้นมีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย และดำเนินงานร่วมกับงานด้านการวิจัยกัญชงและกัญชาและสหรัฐอเมริกาและจีน ในเรื่องดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศให้ความสนใจและชื่นชอบสมุนไพรไทยอย่างมาก ดังนั้นความร่วมมือดังกล่าว จะสร้างโอกาสและขยายผลไปสู่งานวิจัยและการใช้ประโยชน์จากกัญชงและกัญชาเชิงพาณิชย์ ให้กับ มหาวิทยาลัยฯ รวมไปถึงกลุ่มนักวิจัย วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกรที่สนใจและมีความพร้อมที่จะปลูกกัญชงได้ในอนาคต”