ด่วน!! เขื่อนอุบลรัตน์ น้ำเก็บกักกว่า 95% แล้ว เร่งระบายน้ำเพิ่มเป็นวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. สูงสุด 35 ล้าน ลบ.ม.แบบขั้นบันได พร้อมประสาน ชป.ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเป็น 50 เครื่อง ระบายน้ำชีลงสู่น้ำมูลทันที ผู้ว่าฯเตือนพื้นที่ตามแนวแม่น้ำพองรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่ง
เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 15 ต.ค.2564 นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนอุบลรัตน์ล่าสุด อยู่ที่ 2,298 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 95 ของความจุอ่าง ในขณะที่การระบายน้ำออกจากเขื่อนตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบกับแม่น้ำชีอยู่ทีวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนฯสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกเพียง 130 ล้าน ลบ.ม.ก็จะเต็มความจุอ่าง โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจึงมีมติในการปรับระดับการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์เป็น 15 ล้าน ลบ.ม.โดยมีผลทันที และให้เพิ่มระดับการระบายน้ำเป็น 18 ล้าน ลบ.ม.ในวันต่อไปและปรับการระบายน้ำทุกวันอย่างต่อเนื่องทุกวันแบบขั้นบันได และอาจจะสูงสุดที่วันละ 35 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการปรับเพิ่มการระบายน้ำนั้นจะต้องได้ข้อสรุปและขอมติจากที่ประชุมทุกครั้งเพื่อไม่ให้มวลน้ำได้ไหลเข้าปะทะกับแม่น้ำชีได้เร็วเกินไปหรือส่งผลกระทบต่อภาวะน้ำล้นตลิ่งใน 2 ฟากฝั่งแม่น้ำพองเพิ่มเติมในระยะนี้
“ จังหวัดได้มีการประสานงานร่วมกันกรมชลประทาน ซึ่งล่าสุดพบว่า สำนักชลประทานที่ 6 ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่เขื่อนมหาสารคาม เพิ่มเป็น 50 เครื่องเสร็จสิ้นแล้วและจะทำการเดินเครื่องทันทีเพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลและไหลลงสู่แม่น้ำโขงตามเส้นทางของน้ำ ซึ่ขณะนี้หัวน้ำก้อนใหญ่ ที่ผ่าน จ.ขอนแก่นไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ไหลเข้าพื้นที่ร้อยเอ็ดแล้ว ทำให้พื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำชีขณะนี้นั้นคือช่วงภาวะน้ำก้อนสุดท้าย ซึ่งจากการวัดระดับล่าสุดของแม่น้ำชีพบว่าที่สถานีตรวจวัดระดับน้ำกุดกว้าง ต.เมืองเก่า อ.เมือง ระดับน้ำลดลง 9 ซม. และที่สถานีวัดระดับน้ำ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ระดับน้ำลดลง 7 ซม. ซึ่งหากไม่มีน้ำฝนเติมเข้ามาในระยะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำชีก็จะลดลงอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งจังหวัดเตรียมวางแผนในการสูบน้ำค้างทุ่ง และน้ำท่วมขังจากพื้นที่ต่างๆให้ไหลลงสู่แม่น้ำชีซึ่งคาดว่าในอีก 3 วันข้างหน้าจะเริ่มดำเนินการได้”
ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า การเสริมเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทานจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำชีนั้นลดลงอีกอย่างมากในอีก 3 วัน ซึ่งจะสอดรับกับการปรับระดับการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ที่จะเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดเฉลี่ยวันละ 2-3 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อตามเวลาที่กำหนดมวลน้ำก็จะบรรจบกันที่ เขตเมืองขอนแกน และไหลไปตามเส้นทางน้ำในภาพรวม อย่างไรก็ตามประชาชนที่อาศัยอยู่ 2 ฟากฝั่งแม่น้ำพองขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและเตรียมการรับมือกับภาวะน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำที่กำหนดไว้ ซึ่งในการระบายน้ำนั้นจะคงสภาพน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ไว้ให้ได้ที่ร้อยละ 80 ของความจุอ่าง หรือประมาณที่2,000 ล้าน ลบ.ม. เพื่อที่จะมีน้ำสำหรับการบริหารจัดการในการอุปโภคและบริโภคหลังสิ้นสุดฤดูฝนต่อเนื่องไปถึงฤดูแล้งของปีหน้าอีกด้วย