นายกรัฐมนตรีพร้อมผลักดันจังหวัดอุดรธานี ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Hub of GMS) ภายใต้ 5 เส้นทางโลจิสติกส์ สร้างประโยชน์ สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น “พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” สร้างประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ ฮอลล์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี เพื่อหารือแลกเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ – หนองคาย และการเตรียมความพร้อมรองรับโครงข่ายการขนส่งระหว่างจีน – ลาว – ไทย (2) ทิศทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแบบ New Normal โดยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีได้รับการกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) ภายใต้โครงการ “อุดร พลัส โมเดล” (3) การเตรียมความพร้อมของจังหวัดอุดรธานีในการเป็นเจ้าภาพการจัดมหกรรมพืชสวนโลก 2026 (พ.ศ. 2569) ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี และ (4) รายงานมุมมองนักธุรกิจรุ่นใหม่ในการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะความร่วมมือในการผลักดันและรวมตัวกันสร้างเครือข่ายธุรกิจ รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังสถานการณ์โควิด – 19 ด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือและรับฟังบรรยายสรุปว่า
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้เห็นถึงศักยภาพของจังหวัดอุดรธานี ในการเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Hub of GMS) ได้อนุมัติงบประมาณ ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุน ในทุกมิติ ดังนี้
1. รถไฟฟ้าความเร็วสูง กำลังเร่งก่อสร้าง จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-ขอนแก่น ผ่านอุดรธานีสิ้นสุดที่หนองคายและเชื่อมต่อกับระบบรถไฟลาว-จีน
2. ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ซึ่งเป็นสนามบินภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน ที่มีผู้ใช้บริการสูงสุดก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็กำลังจะขยายให้รองรับผู้โดยสารให้ได้มากขึ้นเป็นจำนวน 7 ล้านคนต่อปี
3. ถนนมิตรภาพ อุดรธานี-หนองคาย กำลังขยายเป็น 6 เลนตลอดสาย ลงมือก่อสร้างแล้วในปีนี้ (2564) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 ช่วยรองรับนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว และจีนได้อีกมาก
4. ถนนสายใหม่ตัดตรง อุดรธานี-บึงกาฬ ปลายทางเชื่อมต่อสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ ขณะนี้ สำรวจเส้นทางที่จะสร้างถนนเสร็จแล้ว ถนนสายนี้มีมูลค่าประมาณ 5,500 ล้านบาท ซึ่งจะมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมตั้งงบประมาณก่อสร้างโดยเร็วต่อไป เพื่อให้เชื่อมกับสะพานข้ามแม่น้ำโขง จ.บึงกาฬที่กำลังลงมือก่อสร้างอยู่ โดยชาวอุดรธานีและทุกจังหวัดในภูมิภาคนี้ จะได้รับประโยชน์มาก
การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมนักลงทุนอุดรธานี ที่ได้ลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของภาคอีสาน ที่ จ.อุดรธานี รัฐบาลจะสนับสนุนภาคเอกชนให้เดินไปด้วยกัน โดยจะเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟและเส้นทางถนนมิตรภาพ เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีออกสู่ภายนอก ก็ยิ่งจะสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ต้องสร้างและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก รวมทั้งจะต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รองรับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
ภาคการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความยินดีกับคนอุดรธานีที่ได้รับการปรับระดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักและได้รับเลือกให้เป็นเมือง MICE City ตั้งแต่ปี 2563 ทั้งนี้ รัฐบาลยังอนุมัติให้จังหวัดอุดรธานี เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกในปี 2569 โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวให้กำลังใจ พร้อมให้จังหวัดเตรียมข้อมูลการนำเสนอการเป็นเจ้าภาพฯ ให้ครบถ้วน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและพื้นที่ให้มากที่สุด
โอกาสนี้ ผู้แทนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจังหวัดอุดรธานีกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่สามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ส่งผลประโยชน์ก่อให้เกิดการสร้างโอกาสให้กับจังหวัดอุดรธานีในการเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและระบบโลจิสติกส์ ของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อสร้างงาน สร้างคน สร้างรายได้ให้กับประชาชน รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้แทนนักธุรกิจรุ่นใหม่ ขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้โอกาสนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC หอการค้าจังหวัดอุดรธานี นําเสนอมุมมองนักธุรกิจรุ่นใหม่ในการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี ผลักดันการปลูกพืชเกษตรมูลค่าสูง แทนการปลูกพืชเกษตรหมุนเวียน เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมแนวคิดภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนนักธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลในการผลักดันภาคเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น พร้อมกับฝากให้กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน เน้นความรักความสามัคคี ยืนยันตนเองไม่ได้ขัดแย้ง ไม่ได้รังแกใคร และไม่ได้ใช้อำนาจกลั่นแกล้ง ขอให้คนรุ่นใหม่และทุกคนยึดหลักชัยของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะเป็นแผ่นดินไทยที่เติบโตและตายที่ประเทศไทย ขอให้หยุดความขัดแย้ง อย่าทำโอกาสให้เป็นวิกฤต ช่วยกัน “พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” เพราะทุกคนคือคนไทยต้องช่วยกันสร้างประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น