ชัยวุฒิ” ชี้ New Normal ขับเคลื่อน 4 เทรนด์ เกาะติดโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจจากแรงหนุน 5G
“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ส่องกระแส New Normal ขับเคลื่อน 4 เทรนด์ความเปลี่ยนแปลงใหม่ ภายใต้แรงหนุนของเทคโนโลยี ย้ำรัฐบาลเกาะติดโอกาส 5G ชิงความได้เปรียบในพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลกให้กับประเทศไทย
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงานสัมมนา “5G THAILAND BIG MOVE” วันนี้ (2 ธ.ค. 64) ว่า การเปลี่ยนผ่านวิถีการดำเนินชีวิตสู่รูปแบบ New Normal ที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี ทำให้เกิดเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนใน 4 ด้าน ได้แก่ การเฝ้าระวัง ติดตาม และจัดเก็บข้อมูลเข้าสู่โลกดิจิทัลมากยิ่งขึ้น, เกิดโอกาสในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างคาดไม่ถึงมากมาย, ธุรกิจและผู้บริโภคถูกเร่งให้ปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีดิจิทัลและกลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน และเศรษฐกิจดิจิทัลมีการขยายตัวสูงขึ้น ธุรกิจมีการเชื่อมต่อกับโลกมากยิ่งขึ้น และมีการให้บริการรูปแบบ Cross border / Globalized Service ที่ไม่มีข้อจำกัดในเชิงภูมิศาสตร์อีกต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อเกาะติดกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และชิงความได้เปรียบในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน 5G เพราะมองเห็นโอกาสและศักยภาพด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก
โดยมีผลการศึกษา พบว่า ในปี 2570 ความต้องการใช้งาน 5G ของผู้บริโภคมีแนวโน้มสูงขึ้นเห็นได้ชัดโดยคนไทยจะใช้งาน 5G ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านราย (หรือประมาณ 73%) และปี 2573 ตลาด 5G ในประเทศจะมีมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท และสร้างการจ้างงานใหม่ด้านดิจิทัลกว่า 130,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลจากการประยุกต์ใช้ประโยชน์ 5G
ขณะที่ ในปี 2575 ประเทศไทยจะมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ 5G อยู่ที่ 2.3 – 5 ล้านล้านบาท รวมถึง ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะลดลงอย่างน้อย 38,000 ล้านบาท/ปี และในปี 2578 ด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการค้าการลงทุนในพื้นที่ EEC โดย 5G จะช่วยเพิ่มมูลค่าจีดีพี ให้กับประเทศไทยได้ไม่ต่ำกว่า 5.5 เท่า
“นี่เป็นเรื่องสำคัญ เราเชื่อว่าการขับเคลื่อน GDP ของประเทศต้องเกิดจากเทคโนโลยี 5G และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ถ้าเราไม่ขับเคลื่อน 5G ให้พร้อมกับการแข่งขันเวทีโลก ความสามารถในการแข่งขันเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ และทำให้เกิดการเสียโอกาสไปหลายแสนล้านบาท” นายชัยวุฒิกล่าว
ด้านความคืบหน้าของการพัฒนา 5G ในประเทศไทย ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองที่มี 5G ที่ดีที่สุดในโลก และไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ในการวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ประเทศไทยมีการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 5G และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จาก 5G ที่รวดเร็วมาก
ล่าสุด จากการจัดอันดับใน Opensignal 5G Global Awards 2021 ซึ่งจัดทำโดยบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ผู้ใช้งานมือถือระดับโลก ได้ยกให้ประเทศไทยเป็น 5G Global Leader ใน 5 หัวข้อ ได้แก่ 1.การใช้งานจริง (5G Availability) 2.ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูล (5G Download Speed) 3.ความเร็วในการอัพโหลดข้อมูล (5G Upload Speed) 4.ให้ประสบการณ์ดีที่สุดในการเล่นเกม (5G Games Experience) และ 5.ประสบการณ์ความเร็วในการดาวน์โหลดวิดีโอ (5G Video Experience)
“ในส่วนของภาคของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใช้งานก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง จากการที่ภาครัฐเดินหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การผลักดันให้ขยายเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้มีแบนด์วิธเพิ่มขึ้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสื่อสารข้อมูลต่ำลง และรองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ได้มากขึ้น ทำให้คนไทยสะดวกสบายขึ้น ในการติดต่อสื่อสาร” นายชัยวุฒิกล่าว
ปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เร่งดำเนินการผลักดันการนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ การเกษตร สาธารณสุข อุตสาหกรรม การศึกษา คมนาคม และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ ที่กระจายครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อีกทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนและการใช้ประโยชน์จาก 5G เพิ่มขึ้น ตลอดจนผลักดันแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาเมืองเทคโนโลยี 5G (5G City Guidance) เพื่อผลักดันให้เมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ มีบริการ 5G ในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ อย่างน้อย 1 บริการ ต่อ 1 เมืองอัจฉริยะ