โรงพยาบาลศิริราชนำเทคโนโลยีเครือข่าย 5 G และคลาวด์ AI มาพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วยิ่งขึ้น สร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้ป่วย และยังเป็นต้นแบบพัฒนาโรงพยาบาลอัจฉริยะแห่งอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป
วันที่ 16 ธ.ค.64 เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดโครงการ “ศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G (Siriraj World Class 5G Smart Hospital)” โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เศรษฐกิจ และสังคม ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย รศ. นพ.วิศิษฏ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช รศ. นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และผู้บริหารร่วมพิธี ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช
ศ . ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานความเป็นมาและความคืบหน้าโครงการฯ ว่า ศิริราชดำเนินโครงการต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างต้นแบบ “โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital)” ร่วมกับเหล่าพันธมิตรในการนำเทคโนโลยี 5G Cloud AI และ Digital Disruption มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพการรักษาพยาบาล สร้างประสบการณ์ที่ดีในการมารับบริการ ตลอดจนการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพระดับตติยภูมิขั้นสูงของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งเพื่อเป็นต้นแบบในการให้บริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่แก่วงการสาธารณสุขของโลก นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในการจัดตั้ง Innovation Lab และแพลตฟอร์มนวัตกรรม เพื่อบ่มเพาะโครงการนวัตกรรมใหม่ในอนาคต ประกอบด้วย 9 โครงการย่อย ดังนี้
1. ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ : Smart EMS
2. ระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ : Smart Emergency Room
3. ระบบการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่าย 5G : Pathological diagnosis system with 5G and artificial intelligence
4. ระบบผู้ช่วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคล สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่าย 5G: 5G AI Platform for NCD
5. ระบบทำนายปริมาณการใช้และการจัดการสินค้าคงคลัง ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านเครือข่าย 5G: Smart Inventory Management
6. ระบบเวชระเบียนกลางด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน : Permission based block chain for personal health record
7. ระบบขนส่งกลางด้วยรถไร้คนขับ 5G: Smart Logistic with 5G Self-Driving car
8. จัดหาอุปกรณ์ติดตั้งระบบ Multi-access Edge computing (MEC)
9. จัดหาติดตั้งระบบ Hybrid Cloud
ทั้งนี้ แต่ละโครงการสามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน และได้ผลลัพธ์อย่างชัดเจน และคาดว่าทุกโครงการจะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การดำเนินการครั้งนี้จึงถือได้ว่า ศิริราชเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ในการพัฒนาโครงการต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์ (Smart Hospital with 5G cloud AI solution) เป็นการนำร่องในรูปแบบบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ สร้างความน่าเชื่อถือ และความศรัทธาสู่ประชาชนคนไทย
พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการฯ ว่า “กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีภารกิจสำคัญในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อรองรับการสื่อสารไร้สายความเร็วสูงในยุคเทคโนโลยี 5G ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีในภาคส่วนต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนแนวนโยบายรัฐบาล ภายหลังจากคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) เป็นโครงการต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G โดยได้เล็งเห็นศักยภาพของโรงพยาบาลศิริราชที่ประกอบไปด้วยความเชี่ยวชาญของบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบครัน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบอัจฉริยะ (Smart Hospital) ให้สามารถเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ได้ ดังนั้น กสทช. และสำนักงาน กสทช. จึงได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ รวมทั้งประสานงานการใช้งานคลื่นความถี่ และถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัย เพื่อให้สามารถนำไปใช้รองรับการขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นสูงของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลต่อไป
ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า”หัวเว่ยได้ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชเพื่อผลักดันให้โรงพยาบาลศิริราชเป็นต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G พร้อมเปิดตัวศูนย์ Innovation Lab ที่อาคารศรีสวรินทิรา เป็นการต่อยอดจากโครงการที่หัวเว่ยช่วยวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5G ให้กับทางโรงพยาบาลเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยเป็นโมเดลต้นแบบให้แก่การยกระดับภาคสาธารณสุขของประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้การสนับสนุนช่วยศิริราชในการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ เป็นไปตามพันธกิจของหัวเว่ยที่ต้องการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนช่วยเหลือประเทศไทย”
นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย กล่าวเน้นย้ำว่าหากประเทศไทยมีความจำเป็นใดที่ประเทศจีนสามารถสนับสนุนได้ จีนจะยังคงมอบความช่วยเหลือให้ประเทศไทยเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดต่อไป นอกจากนี้ เขายังเชื่อมั่นเรื่องความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทยด้านสาธารณสุขอัจฉริยะในอนาคต โดยเขากล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในด้าน 5G ได้กลายเป็นโมเดลตัวอย่างสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งช่วยให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่สามารถเปิดตัวการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์ได้ ประเทศจีนพร้อมร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายและการพัฒนาเศรษฐกิจ และพร้อมสนับสนุนหัวเว่ยและบริษัทสัญชาติจีนอื่น ๆ ในการส่งเสริมให้เกิดโรงพยาบาลอัจฉริยะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยและประชาชนจีนให้ดียิ่งขึ้น”
สำหรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี 5G ว่า “ผมมีความยินดีและภูมิใจที่ประเทศไทยกำลังก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยระบบ 5G และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับใช้ในต้นแบบโรงพยาบาลอัฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G ของศิริราช โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของเทคโนโลยีจึงได้มีนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ ซึ่งให้ทุกภาคส่วนตลอดจนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและความเท่าเทียมทางด้านดิจิทัลของประเทศไทย วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ 5G ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงานของแพทย์ ลดความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้ โดยจะนำร่องด้วยโรงพยาบาลศิริราชและจะขยายไปโรงพยาบาลอื่น ๆ วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสำเร็จในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์ ผมต้องขอขอบคุณท่านเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยสำหรับมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ที่มีร่วมกันมาโดยตลอด เราขอชื่นชมทางโรงพยาบาลศิริราช และขอขอบคุณทางหัวเว่ย กสทช. ภาคเอกชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และหวังว่าทุกอย่างจะได้รับการสานต่อสู่ต้นแบบของการเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะทั่วทั้งประเทศไทย”
สำหรับนิทรรศการ”ศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G” และ Innovation Lab เปิดโอกาสให้ประชาชนเยี่ยมชมจนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เวลา 12.00 น. ณ บริเวณหน้าห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร โรงพยาบาลศิริราช
ความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะส่งเสริมและยกระดับบริการของโรงพยาบาลศิริราชด้วยการก้าวสู่การเป็นศูนย์การแพทย์อัจฉริยะที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผสมผสานโครงสร้างพื้นฐาน 5G, AI, Big Data และการประมวลผลแบบ Cloud Edge เพื่อประโยชน์ต่อการติดตามผู้ป่วย การวิเคราะห์โรคด้วยการใช้เทคโนโลยี AI บน Cloud การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล การจัดสรรทรัพยากร ซึ่งล้วนเป็นการตอบโจทย์ในการก้าวสู่วิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในการเป็น “สถาบันทางการแพทย์ของแผ่นดิน เพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ” และเป็นต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ในประเทศไทยต่อไป
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 >