AIS ต่อยอดขีดความสามารถ 5G ผสานพลัง คณะแพทย์ศิริราชฯ – คณะวิศวฯ มหิดลขยายผลความสำเร็จ Mobile Stroke Unit สู่พื้นที่ห่างไกล สร้างโอกาส ช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม ด้วยศักยภาพจากโครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G ที่ครอบคลุมสูงสุด
จากการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องของ AIS 5G กับ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล ในการพัฒนารถ Mobile Stroke Unit หรือ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ด้วยการยกระดับศักยภาพการทำงานของฟังก์ชันและอุปกรณ์ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่าย 5G ทั้งคุณภาพของสัญญาณ และความครอบคลุมของพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมต่อขั้นตอนการทำงานทั้งระบบได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันดียิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม เพราะมาตรฐานเวลาที่แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างเหมาะสม ทันท่วงที กับอาการและความรุนแรง คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การรักษาโรคนี้ประสบผลสำเร็จ และด้วยความตั้งใจร่วมกันในครั้งนี้ทำให้มีรถ Mobile Stroke Unit ที่พร้อมในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรวมแล้ว 5 คัน ซึ่งทยอยกระจายการให้บริการในภูมิภาคต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS กล่าวว่า “เป้าหมายหลักของ AIS ตลอดระยะเวลาช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเดินหน้าด้วยงบลงทุนกว่า 30,000 – 35,000 ล้านบาทในทุกปี เพื่อพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีความสามารถในการยกระดับการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ภาคสาธารณสุข ผ่านการคิดค้นบริการดิจิทัลและโซลูชันส์ที่สามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการร่วมกันพัฒนารถ Mobile Stroke Unit รถพยาบาลที่มีความสามารถในการช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล ผู้ช่วยโรคหลอดเลือดสมอง”
โดย AIS ได้ร่วมกับคณะทำงาน พัฒนาอุปกรณ์ภายในรถเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและกระจายสัญญาณ อาทิ 5G CPE ที่รองรับสัญญาณการแจ้งเหตุได้อย่างรวดเร็ว การเพิ่มคุณภาพของสัญญาณการส่งภาพจากกล้องภายในรถ หรือแม้แต่ภาพ CT Scan ที่มีความจำเป็นต้องส่งขึ้น Cloud อย่างเร็วที่สุด เพื่อให้ทีมแพทย์ได้วินิจฉัยรวมถึงประเมินอาการระดับความรุนแรง หรือแม้แต่การปฐมพยาบาลเพื่อรักษาในเบื้องต้นได้ทันเวลา
ล่าสุดคณะทำงานได้ขยายผลความสำเร็จของรถ Mobile Stroke Unit ไปยังพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี, โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม
รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและทุพพลภาพ ในปีที่ผ่านมา จากข้อมูลพบว่าทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 13.7 ล้านคน ซึ่งการจะรักษาคนไข้กลุ่มนี้ได้นั้นมีปัจจัยหลักอยู่ที่มาตรฐานเวลา หมายความว่า หากพบอาการเร็ว ได้รับการวินิจฉัยเร็ว ก็จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อัตราของโอกาสการหายก็จะมีเพิ่มขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
โดยวันนี้รถ Mobile Stroke Unit ได้ให้บริการแก่ผู้ป่วยไปแล้วกว่า 700 ราย พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้จริง รถ Mobile Stroke Unit สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้ตั้งแต่อยู่บนรถโดยสามารถส่งผล CT Scan ไปยังทีมแพทย์เฉพาะทางให้สามารถทำการตรวจรักษาผ่านจอมอนิเตอร์ที่ถ่ายทอดภาพของผู้ป่วยในรถได้อย่างคมชัด เพื่อให้แพทย์สามารถแนะนำการรักษาได้ตรงตามอาการและความรุนแรงของโรคได้อย่างทันท่วงที ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยนวัตกรรม และดิจิทัลเทคโนโลยีอย่าง 5G เข้ามาเป็นตัวช่วยในการผลักดันการทำงานให้เกิดความต่อเนื่อง และสามารถช่วยชีวิตหรือลดอาการความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้จริง”
ผศ.ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนงาน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “สำหรับ Mobile Stroke Unit ถูกพัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง รพ.ศิริราช และพันธมิตร ผ่านการคิด การออกแบบ และการทดสอบที่เข้าใจ Journey การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยตัวรถและระบบต่าง ผ่านการทดสอบสมรรถนะ มาตรฐานความปลอดภัยด้านยานยนต์ มาตรฐานความปลอดภัยด้านรังสี ติดตั้งและทดสอบระบบกู้ชีพ ระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine และสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารภายในรถกับโครงข่ายสื่อสารสัญญาณ 5G ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รถ Mobile Stroke Unit เริ่มทยอยให้บริการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยแล้วอย่างต่อเนื่อง จากพื้นที่ให้บริการในกรุงเทพฯ สู่การขยายพื้นที่การให้บริการไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ในขณะนี้มีรถ Mobile Stroke Unit พร้อมปฏิบัติการจำนวน 5 คัน และอยู่ระหว่างการผลิต ติดตั้งระบบ กำหนดแล้วเสร็จอีก 1 คันในปีนี้ โดยเป้าหมายการทำงานของเราไม่เพียงแค่คิดค้นนวัตกรรมด้านสาธารณสุขเพื่อยกระดับมาตรฐานวงการสาธารณสุขไทยให้เป็น Medical Tech เท่านั้น แต่เรายังมองถึงความยั่งยืนในการช่วยเหลือชีวิตของผู้ป่วย ที่สามารถลดอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตของคนไทยได้”
รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า “ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ แม้ว่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาจทำให้เกิดความพิการในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลศิริราชเล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้ริเริ่ม ‘โครงการนำร่องการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันโดยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่โรงพยาบาลศิริราช’ โดยเราได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการร่วมกันพัฒนาเครือข่ายการรับ-ส่งผู้ป่วย รวมทั้งเปิดโอกาสใหม่ ๆ ของ การพัฒนาระบบให้บริการด้านการรักษาพยาบาลทางไกล ให้เอื้อต่อการให้ปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน อันนำมาสู่การลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน และเป็นแบบอย่างให้แก่องค์กรแพทย์อื่นๆ ได้ร่วมดำเนินการต่อไป”
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ขณะนี้คณะทำงานได้ขยายผลความสำเร็จของรถ Mobile Stroke Unit ไปยังพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี, โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม ด้วยการยกระดับศักยภาพการทำงานของฟังก์ชั่นและอุปกรณ์ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่าย 5G ทั้งคุณภาพของสัญญาณและความครอบคลุมของพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมต่อขั้นตอนการทำงานทั้งระบบ ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยในตอนนี้รถ Mobile Stroke Unit มีความพร้อมในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรวมแล้ว 5 คัน ซึ่งจะทยอยกระจายการให้บริการในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศในปี 2565 นี้
นายวสิษฐ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า “การที่ AIS เดินหน้าขยายพื้นที่การให้บริการของ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไม่ได้ส่งผลดีในมุมของผู้บริโภคในการใช้งานเท่านั้น แต่ภาคส่วนต่างๆ ก็ยังได้รับประสบการณ์ และบริการใหม่ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต หรือแม้แต่การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม วันนี้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าดิจิทัลเทคโนโลยีสามารถทำให้ภาคสาธารณสุขของไทยมีศักยภาพทัดเทียมกับนานาชาติ นั่นจึงเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของ AIS ที่ต้องเป็นผู้นำในการดึงขีดความสามารถของโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ออกมาเชื่อมต่อการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน ลดอุปสรรคในการเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อท้ายที่สุดจะช่วยลดภาระของภาครัฐ และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 >