โฆษกรัฐบาล เผยฯ นายกฯ ชื่นชมทุกภาคส่วนร่วมใจเดินหน้าสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
จนไทยเป็นชาติแรกที่ดำเนินการตามปฏิญญายูเนสโกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (UNESCO Sustainable Travel Pledge)
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565/ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมมือร่วมใจกันส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากกรณีที่ไทยถือเป็นประเทศแรกที่ดำเนินการตามปฏิญญายูเนสโกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีตั้งมั่น และติดตามการทำงานของรัฐบาล มุ่งดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนประชาสัมพันธ์ กำหนดแรงจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมกับรัฐบาลต่อยอด สร้างสรรค์จนเป็นผลสำเร็จ เมื่อประเทศไทยได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็นประเทศแรกที่ดำเนินการตามปฏิญญายูเนสโกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (UNESCO Sustainable Travel Pledge) ซึ่งมีโรงแรมมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศตั้งมั่นในการยกเลิกการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวและส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงแรมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ ปฏิญญายูเนสโกเพื่อการเดินทางอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง UNESCO และ Expedia Group เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางปฏิบัติและความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนการลงนามในปฏิญญาเป็นการยืนยันต่อสาธารณะว่าที่พักต่างๆ จะดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากธุรกิจของตน สร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเดินทาง และช่วยให้พวกเขามีตัวเลือกในการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น
โดย โรงแรมหลายแห่งระบุว่า โรงแรมสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นด้วยการสนับสนุนกิจกรรมในท้องถิ่น ซึ่งโรงแรมกว่าร้อยละ 46 ให้คำมั่นในขณะที่ลงนามในปฏิญญา และกว่าร้อยละ 58 ให้คำมั่นที่จะดำเนินการในอนาคต
ซึ่งจากการศึกษาพบว่าวัสดุธรรมชาติหลายชนิดที่นิยมใช้กันในครัวเรือนไทย เช่น ไม้ไผ่ ต้นกล้วย ใบตาล กะลามะพร้าว เป็นต้น ได้รับความสนใจและความต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านสุขภาพ อาหาร แฟชั่น การออกแบบตกแต่งภายใน และแม้กระทั่งการก่อสร้าง ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าโรงแรมหลายแห่งได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในท้องถิ่น เช่น หลอดไม้ไผ่ หรือถุงผ้าจากผักตบชวา ความร่วมมือระหว่างโรงแรมและผู้ผลิตในท้องถิ่นเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย
นายธนกร กล่าวว่า น่าชื่นชมภาคเอกชนซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้แก่การท่องเที่ยว โดยความร่วมมือของทุกฝ่ายจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เนื่องจากในปัจจุบัน กระแสการรักษ์โลกกำลังได้รับความสนใจ และยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังการจ่ายสูง ก็จะมีส่วนช่วยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาประเทศ และยังเป็นการลดต้นทุน สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจ และชุมชนมากขึ้นอีกด้วย โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีทั้งภูมิศาสตร์ ทรัพยากร และบุคลากรที่มีศักยภาพ ผลักดันเป็นยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบที่หลากหลาย โดยไทยสามารถจะปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามบริบทโลกได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเชื่อว่านอกจากจะตอบโจทย์กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะสามารถสอดรับกับโลกยุคหลังโควิด -19 ได้ด้วย