(6 มิถุนายน 2565) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ควบคู่ไปกับการผลักดันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ดำเนินการเชื่อมโยงการโอนเงินแบบพร้อมเพย์กับหลายประเทศในอาเซียน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ผู้บริโภคในประเทศร้อยละ 89 วางแผนใช้ระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาล ธปท. สถาบันการเงิน และภาคเอกชนจึงร่วมมือกันในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการทำธุรกรรมและการให้บริการรูปแบบต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ การค้า e-Commerce และ การใช้ Digital Banking รวมถึงการป้องการอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เตรียมยกร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเพื่อใช้เป็นกฎหมายกลางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม
ก้าวย่างสำคัญของการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด คือการที่รัฐบาลได้พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆจนประสบผลสำเร็จ และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ได้แก่
1)โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัญชีธนาคารผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านราย และกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้พิการ สำหรับ ซื้อขายสินค้าจากร้านธงฟ้า (กว่า 20,000 แห่ง) หรือร้านค้าที่ร่วมโครงการ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้
2)โครงการ “พร้อมเพย์” (Prompt pay) และ QR Payment ที่เป็นการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอกนิกส์แบบ Any ID ที่เชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถต่อยอดไปสู่ระบบภาษีและการบริจาค e-Donation สำหรับขอลดหย่อนภาษีได้
3) Government Wallet (G-Wallet) ถุงเงิน application สำหรับ SME ขนาดเล็ก คือการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้เข้าร่วมโครงการผ่านแอป “เป๋าตัง” กว่า 50 ล้านคน และร้านค้า–SME ที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอป “ถุงเงิน” ในโครงการคนละครึ่ง – เราเที่ยวด้วยกัน – ชิมช้อปใช้ เป็นต้น
4) การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับการคืนภาษี VAT ให้กับนักท่องเที่ยว และการออกพันธบัตรรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับระบบภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งภาษี และล่าสุด
5)โครงการขายสลากดิจิทัล ผ่านแอปเป๋าตัง ที่เพียงสามวัน จำหน่ายแล้ว 4.4 ล้านใบ
มากไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการลงทะเบียนด้วยระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการ Prompt pay และ QR Payment รวมทั้งโครงการ G-Wallet และแอปถุงเงิน นำมาต่อยอดอีกหลายๆ เรื่อง เช่น Digital Health Platform ที่เชื่อมโยงสิทธิ์ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช.ผ่านแอปเป๋าตัง ใช้ในการจ่ายยา – แจก ATK ณ ร้านขายยา หรือหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ
นางสาวรัชดาฯ กล่าวต่อถึงบทบาทสำคัญของ ธปท.และธนาคารพาณิชย์ ว่า ได้ต่อยอดบริการพร้อมเพย์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนภายใต้แนวคิด ASEAN Payment Connectivity และประเทศอื่น ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนแรงงานหรือการท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริการที่ ธปท. ได้เดินหน้าเชื่อมโยงกับต่างประเทศในระยะใกล้ ประกอบด้วย (1) การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment ของหลายธนาคาร สามารถใช้ที่ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชาซึ่งจะเริ่มให้บริการภายในปีนี้ (2) การโอนเงินระหว่างประเทศด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ระหว่างไทย-สิงคโปร์ โดยในอนาคตจะขยายบริการไปยังประเทศต่าง ๆ และเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการเพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการให้มากขึ้น
“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการปฎิรูปประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ควบคู่กับความพร้อมของสังคมไร้เงินสด โดยรัฐบาลได้ขับเคลื่อนดำเนินการในหลายมิติ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบราชการให้เป็นระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ระบบการให้บริการ และการใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความชัดเจนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สอดรับกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับการแข่งขันในด้านสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ” นางสาวรัชดาฯ กล่าว
สนใจลงโฆษณาติดต่อนิตยา-0628929797 ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว >