จับตา 3 ทางเลือกรัฐปรับขึ้นค่าค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที งวด เดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 โดยหากรัฐบาลเลือกปรับขึ้นค่าเอฟทีอีกเพียงครั้งเดียวพร้อมชดเชยภาระคืน กฟผ.ทั้งหมด จะทำให้ค่าไฟฟ้าเอฟทีต้องปรับขึ้นอีก 1.45 บาทต่อหน่วยและค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมทะลุ 5.45 บาทต่อหน่วย
สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 4.00 บาทต่อหน่วยแยกเป็นในส่วนของค่าเอฟที 23.38 สตางค์ต่อหน่วย
โดยในการพิจารณาค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค.2565 ที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะประชุมเพื่อพิจารณาในเดือน มิ.ย.นี้นั้น จะมีแนวทางการตัดสินใจใน 3 ทางเลือกซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ
1. การพิจารณาปรับขึ้นค่าเอฟทีตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริงบวกด้วยภาระค่าเอฟทีงวดก่อนๆหน้า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยช่วยแบกแทนประชาชนไว้ทั้งหมด โดยหากเลือกแนวทางนี้จะทำให้ค่าเอฟทีปรับขึ้นเพียงครั้งเดียวอีกประมาณ 1.45 บาทต่อหน่วย ซึ่ง 40 สตางค์ต่อหน่วยจะเป็นต้นทุนค่าเอฟทีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในงวดเดือน ก.ย. -ธ.ค. 65 และอีกประมาณ 1.05 บาทต่อหน่วยเป็นภาระที่ กฟผ.ช่วยแบกไว้ให้ก่อนตั้งแต่งวด ก.ย.-ธ.ค. 64 ถึงงวด พ.ค. -ส.ค.65 หรือคิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 80,000 ล้านบาท
2. การพิจารณาปรับขึ้นค่าเอฟทีตามต้นทุนจริง บวกด้วยภาระค่าเอฟที ที่ กฟผ.ช่วยแบกไว้บางส่วน โดยแนวทางนี้ ค่าเอฟทีจะปรับขึ้นประมาณ 50 สตางค์ต่อหน่วยขึ้นไป จึงจะเป็นการช่วยลดภาระให้ กฟผ.ลงได้บ้าง เพื่อให้มีสภาพคล่องไปชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิงให้ ปตท. ที่ต้องชำระทุกเดือน
โดย ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ กฟผ. ทางกระทรวงพลังงานจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายกรอบวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องจากเดิมที่เคยมีมติให้ กฟผ. กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ในปี 2565 – 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท
3. การพิจารณาปรับขึ้นค่าเอฟทีที่ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นจริง ซึ่งเป็นแนวทางการช่วยตรึงค่าเอฟทีรูปแบบเดิมที่ รัฐบาลเคยใช้มาก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้ค่าเอฟทีปรับขึ้นน้อยกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย และ กฟผ.จะต้องแบกภาระค่าเอฟทีเพิ่มมากขึ้นจาก 80,000 ล้านบาทเป็นระดับ 100,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ กฟผ.เนื่องมาจากช่วยแบกรับภาระค่าเอฟทีแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไว้ก่อนตั้งแต่งวดเอฟที เดือน ก.ย.-ธ.ค. 64 ถึงงวด พ.ค.-ส.ค. 65 และทำให้ต้องเจรจาเพื่อขอขยายระยะเวลา ชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิง กับ ปตท. จนที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 65 มีมติอนุมัติให้ ปตท. ร่วมช่วยบรรเทาภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน ด้วยการเลื่อนกำหนดชำระเงินค่าก๊าซฯ เดือน พ.ค. 65 มูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท ออกไปเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยไม่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระมูลค่าประมาณ 340 ล้านบาทที่จะเกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ปตท. และ กฟผ. ได้หารือร่วมกันแล้วที่จะร่วมมือกันช่วยเหลือภาระค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 นี้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.65 ที่ผ่านมาถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ว่า ค่าเอฟที จะต้องปรับเพิ่มขึ้น แต่จะพยายามให้การปรับขึ้นงวดนี้เป็นครั้งสุดท้าย
และต้องไม่เป็นภาระกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ามากเกินไป
ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ก็จะยังได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลโดยจ่ายค่าเอฟทีเท่ากับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.65
ส่วนปัญหาการขาดสภาพคล่องของ กฟผ. นายสุพัฒนพงษ์ มองว่ายังไม่ใช่ประเด็นน่ากังวลเนื่องจาก กฟผ.สามารถที่จะขยายกรอบวงเงินกู้เพื่อมาดูแลสภาพคล่องได้อยู่แล้ว
สำหรับการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 300 หน่วยต่อเดือนนั้น ครม.เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 65 มีมติเห็นชอบในมาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าเอฟที เป็นระยะเวลา 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค. 65) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวที่จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่า Ft ที่ 0.2338 บาทต่อหน่วย โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยให้ กฟน. และ กฟภ. เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ต่อไป รวมวงเงินประมาณ 1,724 ล้านบาท
สนใจลงโฆษณาติดต่อนิตยา-0628929797 ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว >