โฆษกรัฐบาลย้ำ รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้ประชาชน เชิญชวนคนไทยผู้มีสิทธิบัตรทอง เข้าถึงสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองความเสี่ยง มะเร็งปากมดลูก-ลำไส้-ช่องปาก-เต้านม เพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็งซึ่งเป็นโรคร้ายที่คุกคามสุขภาพประชากรทั่วโลกรวมถึงคนไทย จึงได้ร่วมรณรงค์ให้คนไทยดูแลสุขภาพ โดยได้เพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น ให้ได้รับการรักษาโดยเร็วเพื่อการรักษาให้หายขาดได้ภายใต้ระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยจัดสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง 4 รายการ เพื่อดูแลผู้มีสิทธิให้เข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ มะเร็งช่องปาก และมะเร็งเต้านม
นายอนุชาฯ กล่าวว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี โดย 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วน 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก ด้วยข้อมูลสถานการณ์โรคมะเร็งของประเทศไทยที่ปรากฏนี้ ที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดสิทธิประโยชน์บริการที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” อย่างต่อเนื่อง โดยครอบคลุมบริการป้องกัน การรักษา ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน ทั้งตามโปรโตคอลการรักษา 20 ชนิด (Protocol) และการรักษามะเร็งทั่วไป โดยเฉพาะการเข้าถึงยามะเร็งที่มีราคาแพงที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษา
ในส่วนของบริการป้องกันและคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งนั้น กองทุนบัตรทองมี 4 สิทธิประโยชน์บริการ ได้แก่ บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สำหรับหญิงไทยทุกสิทธิ อายุ 30-59 ปี และอายุ 15-29 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ ตรวจและจี้ด้วยน้ำส้มสายชู (VIA) หรือ ตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV DNA Test โดยมีสิทธิรับบริการตรวจคัดกรอง 1 ครั้ง ทุก 5 ปี นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์บริการวัคซีนเอชพีวีสำหรับเด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.5 ทุกคนทั่วประเทศ บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจาระ (Fit Test) สำหรับประชาชนอายุ 50–70 ปี จำนวน 1 ครั้งทุก 2 ปี กรณีผลตรวจผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องและการเก็บเนื้อเยื่อส่งตรวจ และบริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก สำหรับประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไปปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีบริการตรวจค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีน ทั้งนี้เพื่อเป็นการค้นหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงและเข้ารับการรักษาก่อนที่ภาวะโรคจะลุกลาม
“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งมั่นพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้แก่ประชาชน ด้วยการขยายขอบเขตการรักษาโรคต่าง ๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลโดย สปสช. รณรงค์ให้คนไทยร่วมตระหนักดูแลสุขภาพตนเอง โดยการเข้าถึงสิทธิประโยชน์การคัดกรองความเสี่ยงมะเร็ง ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท ที่สามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงการรับบริการยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็ง โดยยื่นบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด แสดงตนใช้สิทธิ์บัตรทองก่อนรับบริการทุกครั้ง และกรณีพบความผิดปกติก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิประโยชน์ได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และhttps://www.facebook.com/NHSO.Thailand” นายอนุชาฯ กล่าว
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาภายใต้กองทุนบัตรทอง 291,400 ราย หรือ 1,785,882 ครั้ง โดยเข้ารับบริการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ 65,011 ราย หรือ 69,619 ครั้ง และบริการเคมีบำบัด/รังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง (ผู้ป่วยใน/ผู้ป่วยนอก) 94,154 ราย หรือ762,343 ครั้ง เป็นต้น รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยให้เข้าถึงยามะเร็งที่เป็นรายการในบัญชียา จ.(2) จากข้อมูลในช่วง 5 ปี (ปี 2561-2565) มีผู้ป่วยได้รับยามะเร็ง ดังนี้ ยาโดซีแทคเซล (Docetaxel) ใช้รักษามะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด 10,697 ราย ยาเลโทรโซล (Letrozole) เพื่อรักษามะเร็งเต้านม 21,062 ราย ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) รักษามะเร็งเต้านม 4,859 ราย ยาอิมาทินิบ เมสิเลท (Imatinib mesylate) รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน 4,530 ราย ยาดาซาทินิบ (Dasatinib) รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว 514ราย ยาเออร์โลทินิบ (Erlotinib) รักษามะเร็งปอด จำนวน 3,138 ราย เป็นต้น
ขณะเดียวกัน สปสช. ได้ดำเนินนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” (Cancer anywhere) บริการหนึ่งในนโยบายเพื่อยกระดับบัตรทอง ที่ได้เริ่มเมื่อ 1 มกราคม 2564 ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วเพิ่มขึ้น ผลดำเนินการในช่วง 2 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 – 30 กันยายน 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม จำนวน 221,141 ราย หรือ 1,907,724 ครั้ง โดยปีงบประมาณ 2564 (1 ม.ค. 64 – 30 ก.ย. 64) มีผู้ป่วยรับบริการ 144,420 คน 737,675 ครั้ง และปีงบประมาณ 2565 (1 ต.ค. 64 – 30 ก.ย. 65) มีผู้ป่วยรับบริการ 191,194 คน หรือ 1,170,049 ครั้ง โดยมีหน่วยบริการที่มีศักยภาพร่วมดูแล 186 แห่ง แยกเป็นการรับบริการในหน่วยบริการประจำของตนเอง 290,104 ครั้ง หรือร้อยละ 15.2 ต่างหน่วยบริการประจำภายในจังหวัด 947,721 ครั้ง หรือร้อยละ 49.7 หน่วยบริการข้ามจังหวัดภายในเขตพื้นที่ 354,692 ครั้ง หรือร้อยละ 18.6 และหน่วยบริการข้ามเขตพื้นที่ 315,207 ครั้ง หรือร้อยละ 16.5