กรมธุรกิจพลังงาน จัดทำร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) เสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น คาดว่าในอนาคตน้ำมันกลุ่มดีเซล และเบนซิน จะเหลือเกรดมาตรฐานเพียงเกรดเดียว หลังจากที่มีการประกาศใช้บังคับน้ำมันมาตรฐาน ยูโร 5 ตั้งแต่ต้นปีหน้า และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยกเลิกอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะมีเงินลงทุนตามร่างแผนใหม่นี้กว่า 3.4 หมื่นล้านบาท และมีการลงทุนต่อเนื่องอีกกว่า 1 แสนล้านบาท
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า กรมธุรกิจพลังงาน ได้จัดทำร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแผนก่อนที่จะมีการประกาศใช้ต่อไป โดยจะต้องรอประกาศใช้พร้อมกับแผนอื่นๆ ของกระทรวงพลังงานทั้งหมด 5 แผน คือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
สาระสำคัญในแผนนี้ จะมีการกำหนดประเภทของน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายหน้าสถานีบริการน้ำมัน ทั้งน้ำมันเบนซิน และดีเซล ให้เหลือเกรดมาตรฐานเกรดเดียว โดยน้ำมันดีเซล กำลังพิจารณาอยู่ระหว่างชนิดที่มีสัดส่วนผสมไบโอดีเซล B100 ระหว่าง 5-10% แต่จะเลือกสัดส่วนผสมเดียว ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะประกาศให้ B7 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน และ B20 เป็นน้ำมันทางเลือก เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 น้ำมันดีเซลที่ใช้ในประเทศจะต้องเป็นมาตรฐานยุโรประดับ 5 (EURO 5) โรงกลั่นน้ำมันก็จะสามารถผลิตได้ก็จะเป็น B7 ส่วน B20 ก็อาจจะขายเป็น Feet ให้กับรถบรรทุก ซึ่งการเลือกชนิดน้ำมันดีเซลขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ และราคาไบโอดีเซล B100
ส่วนน้ำมันเบนซิน ก็จะมีทางเลือกการใช้น้ำมัน โดยกำลังพิจารณาว่าจะให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานหรือไม่ เนื่องจาก E20 มีข้อจำกัดว่าน้ำมันที่นำมาผสมจะต้องเป็น G-Base โดยเฉพาะ ซึ่งต้องวางแผนบริหารจัดการ หากเลือกให้เป็นน้ำมันพื้นฐานแล้ว โรงกลั่นน้ำมันจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปผลิตน้ำมันชนิดอื่นได้ และขึ้นอยู่กับสเปครถยนต์ด้วยว่า สามารถใช้น้ำมันประเภทนี้ได้มากน้อยแค่ไป หากไม่เลือก E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ก็อาจจะเลือกน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลในอัตรา 10% ซึ่งขณะนี้มีแก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 ก็จะเลือกเพียงชนิดเดียว และยกเลิกอีกชนิดหนึ่ง
ซึ่งปัญหาของน้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล มีกำลังการผลิตเพียงพอ แต่บางช่วงราคาสูง การเลือกชนิดน้ำมันให้เหลือประเภทเดียวก็ต้องคำนึงถึงต้นทุน สเปคของรถยนต์ว่าจะสามารถใช้น้ำมันชนิดไหนได้ และค่านิยมการใช้น้ำมันด้วย จึงอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ค้าน้ำมันว่าจะเลือกชนิดไหนดี เพราะหากเลือกชนิดน้ำมันแล้ว ก็จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะไม่สามารถนำเงินกองทุนมาอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ หากไม่ได้มีการต่ออายุมาตรการอุดหนุนราคา แต่ตาม พ.ร.บ. สามารถต่ออายุได้อีก 2 ปี ก็จะสิ้นสุดในปี 2569 แต่หากไม่มีการต่ออายุมาตรการ ก็จะไม่มีการชดเชยราคาน้ำมัน และต้องเป็นไปตามกลไกตลาด และการเลือกชนิดน้ำมันต้องคำนึงถึงรถเก่าด้วย อาจจะต้องทำทางเลือกการใช้น้ำมันเพิ่มเติม หรือแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น
ส่วนเรื่องการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ก็จะต้องมีการพิจารณาว่าจะกำหนดสัดส่วนอย่างไร จากปัจจุบันมีการสำรองน้ำมันดิบ 5% และน้ำมันสำเร็จรูป 1% คิดเป็น 63 วัน
นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับใหม่ จะเป็นแผนระยะยาว 20 ปี โดยมีการนำนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเข้ามาในอนาคต โดยในช่วง 10 ปีแรก จากการศึกษาพบว่า การใช้น้ำมันยังเป็นหลักอยู่ แต่หลังจาก 10 ปีแรกไปแล้ว ถ้ามี EV เข้ามาตามนโยบาย 30@30 การใช้จะลดลง และจะต้องพิจารณาผลกระทบในเรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย
1.การสำรองน้ำมันในระยะยาวจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะเป็นภาระต้นทุนของผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งจะต้องมีการคาดการณ์ว่า ตามแผนจะมีการสำรองน้ำมันในอัตราใหม่เท่าไร เมื่อการใช้ลดลง
2.การลดชนิดน้ำมันในสถานีบริการน้ำมัน ก็เป็นภาระต้นทุนของผู้ค้าน้ำมัน จึงต้องเลือกว่าจะเหลือน้ำมันชนิดไหนบ้าง ซึ่งขณะนี้มีความเป็นไปได้ว่าน้ำมันดีเซลจะเป็น B7 และในอนาคตถ้าเป็น B10 ได้ก็จะทำ ส่วนน้ำมันเบนซินมาตรฐานก็จะเหลือเกรดเดียว อาจะเป็น E10 หรือ E20
3.โครงสร้างราคาน้ำมัน ก็จะใช้กลไกราคาเข้ามาช่วย ซึ่งทางสมาคมยานยนต์มีความเป็นห่วงรถยนต์เก่า ถ้าจะให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินมาตรฐานจะต้องแก้ไขปัญหารถยนต์ที่ไม่สามารถใช้น้ำมันชนิดนี้ได้อย่างไร
4.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเดิมมีการลงทุนท่อส่งน้ำมัน เมื่อมีการใช้ EV มากขึ้น ปริมาณการขนส่งน้ำมันทางท่อจะลดลง จะต้องหาตลาดน้ำมันเพิ่ม โดยการส่งออกไปประเทศ CLMV ได้อย่างไร
นอกจากนี้ ตามร่างแผนนี้จะมีการจัดทำแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่เพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบการน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของ EV ด้วย อาทิ การลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจปิโตรเคมี การขนส่งน้ำมัน การพัฒนาน้ำมันเครื่องบินชีวภาพ การทำน้ำมันหม้อแปลงชีวภาพ การผลิต Bio Hydrogenated (BHD) และการทำ Pyrolysis เป็นต้น ซึ่งการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจใหม่นี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในแผนทั้งหมด ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท และมีการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องอีกกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่จะช่วยขับเคลื่อน GDP ของประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยกรมธุรกิจพลังงานจะมีบทบาทในการเป็นผู้ประสานงานและขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 >