ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ตัวเลขกลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบันขณะนี้มีมากกว่า 13.64 ล้านคน และในอีก 16 ปีข้างหน้าคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว กลุ่มคนเหล่านี้จะกลายเป็นคนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย และสุดท้ายคือไม่มีคนสนใจเหลียวแล หากมีอายุยืนจากการดูแลสุขภาพดีกินดีมีโรงพยาบาลดีหมอดีการดูแลรักษาร่างกายดี คนแก่เหล่านี้จะมีอายุยืนยาวไปถึง 90 ปี จึงเกิดคำถามที่ว่าคนแก่ 20 ล้านคนนี้จะไปทำอะไร หรือจะกลายเป็นทรัพยากรที่ศูนย์เปล่าของสังคมไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และผู้อำนวยการวงปล่อยแก่ เปิดเผยว่า ด้วยเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงร่วมกันผลักดันกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุนทุนในโครงการดนตรีพลังบวกปล่อยแก่ ซึ่งเป็นวงขับร้องประสานเสียง และเริ่มต้นจากวงปล่อยแก่บ้านคา จ.ราชบุรี ภายในหลังมีการขยายโครงการโดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการวิจัยโครงการ “วงปล่อยแก่ ภาคส่งเสริมต่อยอดสู่วัยเกษียณอย่างมีพลัง” ซึ่งเน้นการทำงานวิจัย การประเมินเรื่องความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุและการทำ Soft power กิจกรรมนอกห้องเรียนและการรวมตัวกันทำนวัตกรรมเกี่ยวกับเพลง เนื่องจากเล็งเห็นว่าการเรียนดนตรีในห้องเรียนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีกิจกรรมนอกห้องเรียน และมีเวทีแสดงผลงานอย่างเป็นทางการ ทำให้โครงการปล่อยแก่ได้ขยับขยายพื้นที่ขึ้นเรื่อย ๆ จวบจนปัจจุบัน พ.ศ.2567 มีทั้งหมดถึง 13 วง 12 จังหวัด จากวงปล่อยแก่บ้านคา เกาะลอย เดินหน้าไปที่ จ.ยะลา จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.อุดรธานี จ.บุรีรัมย์ จ.นครสวรรค์ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครราชสีมา รวมถึงตัวแทนวงปล่อยแก่กรุงเทพมหานคร จากชมรมสายใจ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 25 คน นับเป็นต้นแบบของการทำวงปล่อยแก่ในรูปแบบองค์กร และเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะเกษียณอายุและนำผู้ที่เกษียณอายุไปแล้วกลับเข้าสู่องค์กรในบทบาทใหม่อีกครั้ง
ต้องยอมรับว่าไม่คาดคิดว่าวงปล่อยแก่จะมาได้ไกลถึงขนาดนี้ มาจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งหมด เพราะแต่ละหน่วยงงานเป็นฟันเฟืองที่จะทำให้การขับเคลื่อนโครงการประสบผลสำเร็จและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากการทำงานกับวงปล่อยแก่ทั้ง 13 จังหวัด ต้องใช้ทุนสนับสนุนเยอะ รวมกับการใช้องค์ความรู้ด้านดนตรี เนื่องจากเป็นองค์ประกอบทุกส่วนคือส่วนสำคัญที่จำเป็น อาทิเช่น การที่คุณครูไปสอนในแต่ละพื้นที่ทุกสัปดาห์ การเดินทาง อาหาร การติดตามผล การกระตุ้นให้กิจกรรมดำเนินไปถึงเป้าหมาย ฯลฯ เพื่อให้โครงการสัมฤทธิ์ผล และเมื่อการดำเนินโครงการมาถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เคยถูกมองว่าไร้ค่าในสังคม เมื่อได้มาเข้าร่วมในวงปล่อยแก่ กลับพบว่า “วงปล่อยแก่” มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความสุข มีพลังในการดำเนินชีวิต เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น และทำให้เกิดผลกระทบ (Impact) ต่อสังคมไทยอย่างมาก สามารถขึ้นขับร้องเพลงประสานเสียงบนเวทีต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ และมีแนวโน้มที่วงปล่อยแก่จะขยายพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วภารกิจเหล่านี้ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลุ่มผู้ดูแล กรุงเทพมหานคร ผู้ดูแลเทศบาล อบจ. อบต. จริง ๆ เป็นหน้าที่ของพวกเขาโดยตรง แต่เราในนามของมูลนิธิฯ และภาคีเครือข่าย เราเป็นอาสาสมัครที่เข้ามาทำตรงนี้และทำสำเร็จด้วยพลังของพวกเราเอง
ในส่วนการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยังเป็นผู้สนับสนุนการส่ง “วงปล่อยแก่” เข้าร่วมแข่งขันชิงชัยในครั้งนี้ด้วย โดยเป้าหมายของสมาชิกในวงคือการที่จะได้ขึ้นไปยืนบนเวทีของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเวทีอันทรงเกียรติและหากคว้ารางวัลมาได้ก็จะเป็นสิ่งที่จะจดจำไปตลอดชีวิตของพวกเขาครับ
ด้าน นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการหลาย ๆ โครงการ เพื่อให้เกิดผลกระทบ (Impact) ในเชิงบวกกับสังคม ซึ่งหนึ่งในโครงการที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 4 ปี คือ โครงการดนตรีพลังบวก ที่ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ด้วยการสร้างวงดนตรีประสานเสียงสำหรับผู้สูงวัย ชื่อ “วงปล่อยแก่” เพื่อที่จะนำเสียงเพลงและดนตรีมาใช้เป็นสื่อในการสร้างความสุขทั้งกายและใจ รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงอายุ อันส่งผลต่อการสร้างกำลังใจในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในครอบครัวและในชุมชน นับเป็นการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น ทั้งต่อผู้สูงอายุ ตลอดจนสังคมและชุมชนโดยรวม การที่ผู้สูงอายุที่เป็นตัวแทนจากวงประสานเสียง “วงปล่อยแก่” จากทั่วประเทศ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จึงนับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุของไทยมีคุณภาพ มีความสามารถ มีสุขภาวะที่ดี มีพลังที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณภาพ และยังมีส่วนในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนภารกิจโดยมีเป้าหมายในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทย มุ่งหวังที่จะสร้างสังคมที่เข้มแข็งจากฐานราก อันจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยเน้นการส่งเสริมคุณค่าของผู้สูงอายุเพื่อลดการพึ่งพิงให้สามารถดำรงชีวิตได้ โดยมีสุขภาพกายและใจที่ดี
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสภาวะประชากรสูงอายุ (Aging Population) โครงการ “วงปล่อยแก่” นับเป็นการนำองค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) และดนตรีบำบัด (Music Therapy) มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการมีระดับความสุขและความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการวิจัย โดยช่วยให้สามารถพัฒนาเครื่องมือวัดผลกระทบของโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคม โดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่า โครงการ “วงปล่อยแก่” มีส่วนช่วยลดระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดูแลตนเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้สูงอายุ
ในอนาคต วช. มีแผนที่จะขยายผลโครงการ “วงปล่อยแก่” ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุในชนบท ผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้จากโครงการไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการวิจัยจากโครงการนี้จะถูกนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยต่อไป และอาจต่อยอดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข รวมถึงหน่วยงานพื้นที่ที่ดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ต่อไป
อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยให้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การร้องเพลงประสานเสียงในโครงการ “วงปล่อยแก่” เป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุตามแนวคิดของการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน (Active Aging) ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยในการรักษาสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุทุกท่านมาร่วมสร้างเสียงเพลงแห่งความสุขไปด้วยกัน หรือผู้ที่สนใจสามารถมารับชมการขับร้องจากกลุ่มโมเดลทั้ง 13 จังหวัด ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการดูแลสุขภาพที่ดี แต่ยังเป็นการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุอีกด้วย
ด้าน “พี่จิตร” นางวิจิตร ชมหมู่ จากวงปล่อยแก่เกาะลอย จ.ราชบุรี กล่าวรอยยิ้มว่า พี่เป็นชาวบ้านธรรมดาหน้าตาดำ ๆ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หาเงินเลี้ยงลูกมาตลอดชีวิต ทำงานตั้งแต่ตี 4 เลิกเที่ยง หลังจากนั้นก็รับจ้างทั่วไป ชีวิตในทุกวันคือการหมกมุ่นอยู่กับการหาเงินเลี้ยงลูก จนไม่รู้ว่าความสุขของเราอยู่ตรงไหน เมื่อลูกเรียนจบ ดูแลตัวเองได้เราก็เริ่มมีเวลาให้ตัวเอง และหลังจากได้เข้าร่วมโครงการปล่อยแก่ มันเหมือนตอบโจทย์คำว่าความสุขของเรา เราได้ออกมาพบปะเพื่อนฝูง ได้ร่วมกับขับร้องเพลง ทุกสัปดาห์จะมีคุณครูเข้าแนะนำ มาสอนเทคนิควิธีการร้องที่ถูกต้อง รู้สึกเพลิดเพลินและมีความสุขอย่างแท้จริง มันเหมือนยกภูเขาออกจากอก และใส่แม่น้ำใสไหลเย็นลงไปอยู่ในหัวใจ ทำให้หัวใจเราเบิกบาน จากคนที่ไม่เคยแต่งหน้าแต่งตัว เราก็เปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ พอ เรามีความสุข ในการร้องเพลงจิตใจเรามันก็สบายขึ้น เราทำแล้วเราได้ความสุข และส่งต่อความสุขตรงนี้มาบอกกับทุกคนค่ะ
ด้านนางวารุณี สกุลรีอานธาราง จากวงปล่อยแก่ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า วงปล่อยแก่ของจังหวัดภูเก็ตเราอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นการรวมตัวกันในนามวงปล่อยแก่ จ.ภูเก็ต และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับจังหวัด หากมีงานของส่วนราชการ องค์กรเอกชน วงปล่อยแก่ภูเก็ตจะได้ไปขับร้องประสานเสียงได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในงานระดับจังหวัดเสมอ ถือเป็นการยกระดับการร้องเพลงของเราให้มีคุณภาพขึ้นค่ะ สมาชิกทุกคนมีทักษะการร้องเพลงที่ถูกต้อง อ่านโน้ตเป็น รู้จักการควบคุมลมหายใจ การใช้เสียงสูงเสียงต่ำ และที่สำคัญการเข้ามาอยู่ในวงปล่อยแก่ทำให้คนวัย 60 ปีอย่างพวกเรารู้สึกมีความสุข ได้มีเพื่อนมากขึ้น วันนี้ดีใจที่ผ่านการคัดเลือก (Audition) และได้มาเข้าค่ายนี้ เพื่อที่จะปฏิบัติภารกิจการแข่งขันระดับนานาชาติ พวกเราจะทำให้เต็มที่และดีที่สุดค่ะ
ด้าน “พี่หน่า” หรือ นางบรรจง ศรีทองแท้ อดีตข้าราชการ เปิดเผยว่า กว่า 6 ปีที่เกษียณอายุราชการ ในทุกวันที่ใช้ชีวิตตามปกติจะอยู่บ้านทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ให้ค่ำมืดไปวันๆ ไม่ได้มีแพชชั่นอะไร พอทราบว่ามีวงปล่อยแก่และเราสามารถเข้าร่วมได้ ก็ใจฟูเลย ใจจดใจจ่อที่จะมาฝึกซ้อมร้องเพลงกับคุณครู ไม่เคยขาดเลยสักครั้ง ทุกครั้งที่มาคือความสุข อิ่มใจ รู้สึกชอบมากๆ ได้มาเจอเพื่อนที่ชอบกิจกรรมเหมือนกัน พูดคุยภาษาเดียวกัน และยังได้รู้เทคนิคการขับร้องที่ถูกต้อง รู้จักการอ่านโน้ต จริงๆ แค่นี้ก็พอแล้วค่ะสำหรับคนแก่ ได้ร้องเพลงได้มีความรู้สึกว่าดีใจที่มีโครงการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ มันเหมือนเป็นการเติมเต็มความรู้สึกของคนแก่ที่อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้หัวใจที่กำลังแห้งเหี่ยว กลับมาใจฟูได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากความร่วมแรงร่วมใจ ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ครูผู้ฝึกสอน ผู้ประสานงานทุกจังหวัด และการควบคุมวงโดย “ครูโอม” นายเกื้อกูล เดชมี ผู้ควบคุมวงปล่อยแก่ประเทศไทย Let’s be young ทำให้ได้รับ “เหรียญเงิน” จากการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มาครองได้สำเร็จ ขอบคุณทุกพลังความร่วมมือที่ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จด้วยดีครับ รศ.ดร.สุกรี กล่าวตอนท้าย