ครม.รับทราบผลการยื่นประมูลสิทธิ์ การเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.นครราชสีมา พ.ศ. 2572 เห็นชอบให้ กษ. เป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการเตรียมการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.นครราชสีมา พ.ศ. 2572
วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ อนุมัติ และเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572
2. เห็นชอบให้ กษ. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 โดยเตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องและจัดทำแผนงานและงบประมาณต่อไป
3. อนุมัติองค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (คณะกรรมการอำนวยการฯ)
4. เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดเอกสารสัญญาให้มีความรอบคอบ รัดกุม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย
เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับการดำเนินโครงการประมูลสิทธิ์งานมหกรรมพืชสวนโลก ดังนี้
มติคณะรัฐมนตรี | รายละเอียด |
16 พฤศจิกายน 2564 | อนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (ระดับ B1) และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (ระดับ A1) ต่อ AIPH |
4 มกราคม 2565 | อนุมัติกรอบงบประมาณการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 วงเงินงบประมาณ 2,500 ล้านบาท และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 วงเงินงบประมาณ 4,281 ล้านบาท |
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
โครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 มีรายละเอียด ดังนี้
1. การประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพ :
1.1 โครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 มี Theme: Nature & Greenery: Envisioning the Green Future ระดับการจัดงานประเภท A1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านพันธุ์พืช เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตพืชสวน การแปรรูป และผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ในการเป็นฐานเกษตรและอาหารที่เข้มแข็ง บนพื้นฐานของการพัฒนา รวมทั้งการสร้างสมดุลทางธรรมชาติ ด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทยเพื่อจัดให้เกิดการยกระดับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารทางด้านพืชสวนและการเกษตรกับนานาประเทศที่มาร่วมงานและส่งเสริมให้เกิดการขยายตลาดสินค้าการเกษตรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่ง กษ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ) เพื่อพิจารณาจัดเตรียมข้อมูลการยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572
1.2 ผลการประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 ในการประชุม AIPH Spring Meeting 2024 ระหว่าง วันที่ 3 – 7 มีนาคม 2567 ในช่วงการประชุม AIPH International Horticultural Expo Conference เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ประเทศไทย โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เสนอความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Korat Expo 2029 ซึ่งเป็นการจัดงานระดับ World Horticultural Expo (A1) และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 AIPH ได้ประกาศผลประเทศเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก พ.ศ. 2572 ในช่วงการประชุม AIPH General Meeting ว่าประเทศไทยได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ทั้งนี้ คณะกรรมการ AIPH ได้มีข้อแนะนำให้ควรเริ่มดำเนินการเตรียมการให้เร็วที่สุดจะทำให้งานมีประสิทธิภาพ
2 แผนการดำเนินงานต่อไป
2.1 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการฯ (เสนอในครั้งนี้) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
องค์ประกอบ | |
(1) รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล กษ. ประธานกรรมการ (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองประธานกรรมการ (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองประธานกรรมการ (4) อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กรรมการและเลขานุการ (5) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (6) รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับมอบหมาย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ | |
กรรมการ | |
(7) ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (8) ปลัดกระทรวงมหาดไทย (9) ปลัดกระทรวงการคลัง (10) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (11) ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (12) ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (13) ปลัดกระทรวงการคมนาคม (14) ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (15) ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (16) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (17) ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (18) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (19) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ | (20) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (21) อธิบดีกรมชลประทาน (22) อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (23) อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (24) อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (25) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (26) ประธานกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (27) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (28) ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (29) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (30) อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (31) นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย |
อำนาจหน้าที่ | |
(1) กำหนดนโยบาย อำนวยการ กำกับ และติดตามผลการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (2) มอบหมายให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐสนับสนุนงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (3) แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 เพื่อพิจารณาแผนงานและงบประมาณโครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (4) ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (5) คณะกรรมการอำนวยการฯ สามารถเบิกเบี้ยประชุมตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย |
2.2. การชำระเงินค่าธรรมเนียมและการจัดทำสัญญามีรายละเอียด ดังนี้
หัวข้อ | รายละเอียด | ผู้รับผิดชอบ |
การชำระค่าธรรมเนียม (เมื่อได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดงาน) | (1) หลังประกาศผล 1 เดือน ชำระค่าหนังสือค้ำประกันโดยธนาคาร (Financial Guarantee) 100,000 ยูโร (ประมาณ 4 ล้านบาท) (2) ภายใน 6 เดือน ชำระค่าตอบแทนการให้ใช้สิทธิ (License Fee) 600,000 ยูโร (ประมาณ 30.5 ล้านบาท รวมภาษี) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว | สสปน. |
การลงนามในสัญญา | ลงนามภายใน 3 เดือน หลังประกาศว่าได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพ | กษ. จังหวัดนครราชสีมา และ สสปน. |
กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง | (1) การเยี่ยมชมพื้นที่จริงของคณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH Site inspection) ประจำปี 2567 | |
(2) ก่อนการจัดงาน 4 ปี ดำเนินการรายงานต่อ สำนักนิทรรศการระหว่างประเทศ (Bureau International des Expositions: BIE และชำระค่าธรรมเนียม ประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว | สสปน. |
2.3 ประโยชน์และผลกระทบ
ประเด็น | รายละเอียด |
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ | – เงินทุนหมุนเวียนจากการจัดงาน – การสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) – สร้างการจัดงาน – รายได้จากการจัดเก็บภาษี |
ผลกระทบทางสังคมจากการจัดงาน | การจัดมหกรรมพืชสวนโลกในประเทศไทยถือเป็นงานระดับภูมิภาคที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมงาน รวมทั้งก่อให้เกิดการบูรณาการและทำงานร่วมกันของทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดงานของผู้จัดและค่าใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงานและเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอันเป็นผลจากการจัดงานอีกด้วย นอกจากผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการจัดมหกรรมพืชสวนโลก ยังส่งผลกระทบทางสังคมต่อประเทศไทยทั้งทางบวกและทางลบในประเด็นด้านต่าง ๆ ได้แก่ เสริมสร้างภาพลักษณ์ ชื่อเสียงและการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่สีเขียวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในฐานะผู้นำด้านเกษตรกรรมและวนเกษตร ให้เป็นที่รับรู้และมีชื่อเสียงทั้งในระดับนานาชาติและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าภาคการเกษตรของประเทศไทย พัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเกษตรและเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ |
_______________________
1การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) A1 : World Horticultural Exhibition ใช้พื้นที่จัดแสดง 500,000 ตารางเมตร ระยะเวลาจัดงาน 3 – 6 เดือน (2) B : International Horticultural Exhibition ใช้พื้นที่จัดแสดง 250,000 ตารางเมตร ระยะเวลาจัดงาน 3 – 6 เดือน (3) C : International Horticultural Show ใช้พื้นที่จัดแสดง 6,000 ตารางเมตร ระยะเวลาจัดงาน 4 – 20 วัน และ (4) D : International Horticultural Trade Exhibition เป็นงานแสดงเพื่อธุรกิจการค้าพันธุ์พืชโดยไม่กำหนดจำนวนวันจัดงานขั้นต่ำ
2 พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (1) (ค) บัญญัติให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ให้หน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีการประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อนเว้นแต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้พัสดุนั้นอันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ ซึ่งหากใช้วิธีการประกาศเชิญชวนทั่วไปจะทำให้ไม่ทันต่อความต้องการใช้พัสดุ ให้ใช้วิธีการคัดเลือก