รพ.แวงใหญ่ เร่งสร้าง รพ.เพิ่มอีก 60 เตียง รับคนขอนแก่นกลับบ้าน ขณะที่ผู้ว่าฯสั่งเร่งสร้าง รพ.สนามทุกอำเภอ รับผู้ป่วยกลับบ้านได้อีก 3 เท่า
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 4 ส.ค.2564 นพ.สารสิน กิตติโพวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแวงใหญ่ นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอแวงใหญ่ และกำลังเจ้าหน้าที่จากส่วนงานต่างๆ เร่งสร้างโรงพยาบาลสนาม ภายใน รพ.แวงใหญ่ สำหรับการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะถูกส่งต่อการรักษาในระบบของกระทรวงสาธารณสุข
นพ.สารสิน กิตติโพวานนท์ ผอ.รพ.แวงใหญ่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีจำนวน 30 เตียง ในช่วงของการระบาดระลอกใหม่ระบาด รพ. มีเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 2 เตียง เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยไม่มากหรือหากมีจำนวนผู้ป่วยมากก็จะส่งต่อไปยัง รพ.พล แต่ในปัจจุบันมีผู้ป่วยเริ่มแจ้งความประสงค์ที่จะเดินทางกลับมารักษาที่ภูมิลำเนามากขึ้นทำให้จำนวนเตียงไม่เพียงพอ จึงมีปรับเปลี่ยนเรือนพักญาติมาเป็นโรงพยาบาลเพิ่มจำนวนเตียงอีก 30 เตียง แต่เปิดได้ไม่นานก็เต็มจนล้น ต้องให้ผู้ป่วยปูเสื่อนอนรอเตียงว่าง
” ขณะที่ภายในจุดพักคอยที่สร้างไว้รองรับกลุ่มเสี่ยงก็มีกลุ่มเสี่ยงยืนยันติดเชื้อรอเตียงรักษาเช่นกัน ทั้งยังคงมีชาวแวงใหญ่แจ้งความประสงค์จะกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านเกิดอีกจำนวนมาก ทางอำเภอจึงร่วมกับสาธารณสุขและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่งในพื้นที่มีมติสร้างโรงพยาบาลสนามโดยเร็วที่สุด โดยเห็นพร้องต้องกันว่าจะจัดสร้างบนที่ว่างข้างเรือนพักญาติที่เป็นโรงพยาบาลสนามมาก่อนหน้านี้ เพราะสะดวกต่อการรักษาของบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยงบประมาณ800,000 บาท สร้างเป็นอาคารเอนกประสงค์ขนาด 60 เตียง โดยจะเร่งสร้างให้เร็วที่สุดคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์แล้วเสร็จ”
ขณะที่นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นจัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดพื้นที่สีแดงควบคุมสูงสุด โดยวันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 171 ราย ทำให้ขณะนี้จังหวัดมีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,748 ราย ในจำนวนนี้กำลังรักษาในโรงพยาบาล 2,652 ราย รักษาหายแล้ว 1,083ราย และเสียชีวิต 13 ราย ขณะที่แผนการรับคนขอนแก่นกลับบ้านนั้นขณะนี้ได้มีการเร่งตั้ง รพ.สนาม กระจายครอบคลุมทั้งพื้นที่ 26 อำเภอของจังหวัด โดยมี รพ.สนาม หลักของจังหวัดหลัก 4 แห่งที่ขณะนี้รับผู้ป่วยจากพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ที่เป็นคนขอนแก่นได้กลับมารักษาตัวที่บ้านแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้เร่งจัด รพ.สนาม กระจายอยู่ทุกอำเภอโดยเร็วสุด ตั้งเป้ามีจำนวนเตียงผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 3 เท่าตัว แต่ถึงอย่างไรจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยอมรับว่าบุคลากรทางการแพทย์ของจังหวัดนั้นเหนื่อยล้า ทำงานทุกวัน บางส่วนพบติดเชื้อโควิดและบางส่วนจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง การบริหารจัดการทีมแพทย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจึงต้องร่วมมือกันการก้าวผ่านวิกฤติไปด้วยกัน
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 >