เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้เด็กกลายเป็นประชากรกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ เพราะพ่อแม่ติดเชื้อโควิดเสียชีวิตส่งผลให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นเด็กกำพร้า ขณะนี้พบตัวเลขจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตจนกลายเป็นเด็กกำพร้า จำนวน 35 ราย โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ มีความห่วงใยเป็นอย่างมาก และที่ผ่านมาได้มีข้อสั่งการและมอบเป็นนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ว่าจะเป็นปรับสถานศึกษาให้เป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย ช่วยเหลือนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป
ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ น.ส.ตรีนุช ยังมีนโยบายให้ช่วยเหลือนักเรียนที่ผู้ปกครอง บิดา มารดา เสียชีวิตด้วยโรคโควิด โดยให้ สพฐ.มีการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด พม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นักเรียนกำพร้าจำนวนดังกล่าวได้รับทุนการศึกษาและให้ได้รับการศึกษาในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทุกคน ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานโควิด จำนวน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 50 ภาคใต้ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 ภาคเหนือ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ และ ภาคกลาง โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์
ทั้งนี้ ตนในฐานะที่กำกับดูแลสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ได้มอบนโยบายศูนย์การศึกษาพิเศษในระดับพื้นที่ไปแล้วว่า ต่อจากนี้ไปให้นำนโยบายในการช่วยเหลือดูแลเด็กกำพร้า โดยศูนย์การศึกษาพิเศษจะต้องไปปูพรมค้นหาว่ามีเด็กคนใดที่บิดามารดาเสียชีวิตจากโควิดอยู่ในพื้นที่ไหนจำนวนเท่าไหร่ เพื่อส่งต่อเด็กให้ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์หรือโรงเรียนราชประชานุเคราะห์สังกัด สพฐ.จนจบการศึกษาต่อไป
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 >