ดีอีเอส เปิดสถิติ 15 ปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ในรอบปี 64
“เนวินธุ์” ผู้ช่วย รมว.ดีอีเอส เปิดข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC มัดรวม 15 ปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ในรอบปี 64 พบส่วนใหญ่มาจากการซื้อขายผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก 82.1%
นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ได้สรุปสถิติรูปแบบการฉ้อโกงสำหรับปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์ในรอบปี 2564 พบว่าแบ่งประเภทได้ 15 เรื่อง โดยช่องทางการซื้อขายที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก มีสัดส่วนถึง82.1% ตามมาด้วย เว็บไซต์ อินสตาแกรม แพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส ไลน์ ทวิตเตอร์ และยูทูบ ตามลำดับ ซึ่งความเสียหายที่พบบ่อยคือ สินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า สินค้าชำรุด เป็นต้น
สำหรับรูปแบบการฉ้อโกงในการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ ประกอบด้วย 1. การซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระ มักเกิดเหตุกับสินค้าราคาสูง เช่น ทองคำ โทรศัพท์มือถือ 2.การกดดันให้โอนเงิน มิจฉาชีพมักแฝงตัวขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลสซึ่งเป็นที่นิยม และกดดันให้ลูกค้าโอนเงินทันที โดยอ้างว่าสินค้ามีน้อยและมีลูกค้ารายอื่นกำลังสนใจ 3.ใช้สถานการณ์ Hot issue เป็นช่องการฉ้อโกง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด มีการหลอกขายแอลกอฮอล์ หน้ากาอนามัย เครื่องวัดค่าออกซิเจน ชุดตรวจ ATK เป็นต้น และล่าสุดขยายมาถึงสินค้ายอดนิยมยุคNew normal ได้แก่ ต้นไม้ด่าง
4.การฉ้อโกงผ่าน Social Media สินค้าที่พบปัญหานี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์เนม และมีมูลค่าความเสียหายสูง 5.การแลกเปลี่ยนสิ่งของผ่าน App แลกเปลี่ยนสิ่งของ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับตามที่ตกลงกันไว้ และถูกบล็อกช่องทางการติดต่อหลังจบการแลกเปลี่ยน 6.การซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยสั่งซื้อสินค้านำเข้าผ่านแพลตฟอร์มด้านนี้โดยตรง แต่ได้รับสินค้าชำรุด
7. การซื้อสินค้าแบบ Pre-order โอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า 8.การถูกฉ้อโกงจากวิธีเก็บเงินปลายทาง ได้รับสินค้าปลอม 9.การแอบอ้างเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า พบบ่อยคือสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อโอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า 10.การใช้บัญชีที่สวมรอย หลอกลวงให้โอนเงิน 11. พนักงานขนส่งสินค้า ติดต่อให้ชำระเงินค่าสินค้า อ้างว่ามีสินค้าที่ถูกจัดส่งมาจากต่างประเทศ ต้องชำระค่าธรรมเนียมก่อนรับสินค้า
12.การประมูลสินค้าผ่านเว็บไซต์ เงื่อนไขคือผู้ประมูลจะต้องเติมเงินก่อนการประมูล แต่หลังจากเติมเงิน ทางแอดมินเพจ แจ้งว่าไม่สามารถประมูลได้โดยอ้างเหตุผลต่างๆ และผู้เสียหายไม่ได้รับเงินที่โอนเติมเงินคืน 13.การแจกสินค้าฟรี แต่เรียกเก็บเงินค่าจัดส่ง โอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า 14.การซื้อสินค้าประเภทผลไม้ตามฤดูกาล และไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงกันไว้ และ 15.การหลอกลวงจากการซื้อสินค้าประเภทเครื่องขุดเหรียญดิจิทัล ได้รับของไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้
นายเนวินธุ์ กล่าวว่า ภาพรวมการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน 1212 OCC ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา
พบปัญหาร้องเรียนมากสุด คือ ปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ 37,584 เรื่อง (เฉลี่ย 3,132 เรื่อง/เดือน) และตามมาด้วย เว็บไซต์ผิดกฎหมาย 11,476 เรื่อง ปัญหาอื่นๆ/สอบถามข้อสงสัย 3,200 เรื่อง ภัยคุกคามไซเบอร์ 1,667 เรื่อง และข้อสงสัยด้านกฎหมายไอซีที 421 เรื่อง
ทั้งนี้ เกือบ 80% ของข้อร้องเรียนปัญหาซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ คือ ไม่ได้รับสินค้า และสินค้าไม่ตรงตามข้อตกลง/ไม่ตรงตามโฆษณา โดยประเภทสินค้าที่มีการร้องเรียรนมากสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไอทีและสินค้าแฟชั่น ครองสัดส่วนรวมกันเกือบ 50%
“กรณีที่ประชาชนผู้บริโภคพบปัญหาจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สามารถร้องเรียน ขอคำปรึกษา หรือแจ้งเบาะแสเข้ามาได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC เพื่อเราจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด โดยสามารถติดต่อผ่านช่องทาง ดังนี้ สายด่วนโทร. 1212 อีเมล์1212@mdes.go.th เว็บไซต์ 1212OCC.com เพจเฟซบุ๊ก : ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC และสำนักงานสถิติจังหวัดทั่วประเทศ” นายเนวินธุ์กล่าว
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 >