กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมแทนการฟ้องร้องดำเนินคดี พร้อมชี้แจงกรณีการคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ โดยยืนยันว่ามีเงินเพียงพอให้ผู้ขาดแคลนกู้ได้ทุกคน
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเรื่องดอกเบี้ยและเบี้ยปรับของ กยศ. รวมทั้งการจ้างทนายความเพื่อติดตามหนี้นั้น กองทุนขอชี้แจงว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของกระทรวงการคลัง ดำเนินการในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,206,983 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 680,103 ล้านบาท โดยให้กู้ยืมเฉลี่ยปีละ 26,157 ล้านบาท ที่ผ่านมากองทุนได้ใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้วประมาณ 468,673 ล้านบาท ปัจจุบันกองทุนได้นำเงินที่ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ชำระคืนกองทุนกลับมาหมุนเวียนในการปล่อยกู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา
ในประเด็นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับของกองทุนนั้น ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มาตรา 44 ได้ระบุให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี และห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น ในกรณีผิดนัดการชำระเงินคืนกองทุน คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อเดือนก็ได้ แต่ที่ผ่านมากองทุนมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปีมาโดยตลอดและปัจจุบันคิดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด กองทุนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 และลดอัตราเบี้ยปรับเหลือร้อยละ 0.5 เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ยืม ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่กองทุนได้รับมานั้น เงินดังกล่าวก็ได้นำมาหมุนเวียนให้กับผู้กู้ยืมรุ่นน้อง สำหรับประเด็นเรื่องการดำเนินคดีนั้น กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้มีเจตนาหลักในการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ แต่กองทุนมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ ซึ่งจะทำให้รัฐเกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ กองทุนมีการรับชำระหนี้ที่ดีขึ้นมาตลอด เป็นผลมาจากผู้กู้ยืมรุ่นพี่ได้ส่งมอบโอกาสและมีกระบวนการหักเงินเดือน ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กองทุนได้ชะลอการฟ้อง บังคับคดี และขายทอดตลาด ยกเว้นในคดีที่มีความจำเป็นเนื่องจากจะขาดอายุความ ในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ ทางกองทุนจึงได้ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ไบเทคบางนา ห้องภิรัชฮอลล์ 1-3 โดยกองทุนจะเชิญผู้กู้ยืมที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกดำเนินคดี เข้ามาทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้กู้ยืมที่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยจะไม่ถูกดำเนินคดี มีส่วนลดเบี้ยปรับ ได้รับโอกาสในการขยายระยะเวลาผ่อนชำระได้ถึงอายุ 65 ปี และเมื่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ. ….ที่อยู่ระหว่างการขอแก้ไขมีผลบังคับใช้ กองทุนจะมีอำนาจในการปลดภาระผู้ค้ำประกัน โดยกองทุนมีหลักการว่าจะยกเลิกการค้ำประกันของผู้ค้ำประกัน เมื่อผู้กู้ยืมได้ผ่อนชำระเงินต้นมาแล้วร้อยละ 25 ของเงินต้นที่ค้างชำระ ซึ่งการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยดังกล่าวจะเป็นผลดีกับลูกหนี้ที่จะไม่ถูกดำเนินคดี และกองทุนจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีต่อไปในอนาคต โดย กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้องๆ ที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด