วันอังคาร, 22 เมษายน 2568

สมอ. ร่วมกับ ปคบ. ทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท

สมอ. ร่วมกับ ปคบ. ทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท

ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเป็นนโยบายเพื่อนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ดำเนินการตรวจควบคุม และกำกับติดตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังการทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานในวันนี้ว่า สมอ. พร้อมด้วยพล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. และ พ.ต.อ.วริษฐ์ ปทุมารักษ์ ผกก.3 บก.ปคบ. และผู้บริหาร บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ได้จัดการทำลายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นสินค้าที่ สมอ. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้ลงพื้นที่ตรวจจับและยึดอายัดไว้ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 – มกราคม 2565 จำนวนกว่า 1 ล้านชิ้น มูลค่ารวมกว่า 40 ล้านบาท ได้แก่ ของเล่น ไฟแช็กก๊าซ เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับดูแลผิวและผม เตารีด ลำโพงพร้อมเครื่องขยาย เตาย่างเตาปิ้ง เตาไมโครเวฟ พัดลมไฟฟ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เต้าเสียบเต้ารับ ปลั๊กพ่วง กระทะไฟฟ้า ฝักบัวอาบน้ำ ก๊อกน้ำ หมวกกันน็อค ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ หัวนมยาง ของเล่น ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร เซลส์และแบตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งเมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการทำลายให้สิ้นสภาพด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเหล่านี้กลับไปหมุนเวียนในท้องตลาดหรือนำกลับมาใช้ได้อีก เพราะเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

สำหรับกระบวนการทำลาย สมอ. ได้ร่วมกับบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด โรงไฟฟ้ามาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยี แพลนท์ ซึ่งเป็นโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า ที่สามารถรองรับขยะอุตสาหกรรมได้หลากหลายประเภทและหลายขนาด ทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยกระบวนการดำเนินงาน
ทุกขั้นตอนเป็นแบบระบบปิด มีระบบการควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การรับขยะอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อเตรียมกำจัด การเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับแอชเมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) ซึ่งเศษวัสดุที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก เถ้าลอย ยังนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุเผาไหม้ไม่ได้ (Incombustible) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ โดยกระบวนการนี้ทำให้ไม่เหลือขยะอุตสาหกรรมที่ต้องกำจัดเพิ่ม นอกจากวัสดุที่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

“การทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานในวันนี้ เป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหากสินค้ามีคุณภาพมาตรฐานก็จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่จะขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน จึงขอฝากเตือนไปยังผู้ทำ ผู้นำเข้า ผู้ขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานว่า อย่าได้พยายามฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะนอกจากจะถูกดำเนินคดีแล้ว ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากการทำลายสินค้าอีกด้วย สำหรับประชาชนผู้ซื้อสินค้าขอให้ซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมาย มอก. และมี QR Code ที่ตัวสินค้า เพื่อความมั่นใจว่าจะได้สินค้าดี มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 DasKLf.jpg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
แพลตฟอร์มขายฝากอัจฉริยะ Dcash พลิกโฉมการกู้-การลงทุนด้วยระบบ Reverse Auction และ AI
บันยันกรุ๊ป คว้ารางวัลเกียรตินิยมสูงสุดจากงาน ‘International Property Awards 2024/5’
ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว คว้ารางวัล 2025 Thailand’s Most Admired Brand ตอกย้ำแบรนด์สตรีทฟู้ดมหาชนของทุกคน
 โก โฮลเซลล์ ลุยเคาะรั้วมหาวิทยาลัย ชี้ช่องตำแหน่งงาน นำร่อง ม.มหาสารคาม เจาะนิสิตเฉพาะทาง เพิ่มผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจ ตอกย้ำ Brand Core Value
นิโอ ทาร์เก็ต และอินฟลูเอ็นเชี่ยลแบรนด์ สิงค์โปร์ จัดงานมอบรางวัลสุดยอดแบรนด์ปี 2024
พูดถึงกล้วยหอมทอง ทำไมต้องที่ “โก โฮลเซลล์” ผลผลิตสดใหม่จากเสิงสาง ใหญ่ เนื้อแน่น รสชาติดี มีมาตรฐาน GAP