วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

เจาะใจ “หมอเมดศิริราช”

04 มี.ค. 2022
741

ทุกครั้งหากเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบาย ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร เมื่อไปถึงโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่จะจัดเราให้ไปตรวจโรค ซักประวัติ กับหมอแผนกอายุรกรรมเป็นด่านแรก  บางคนตรวจเสร็จแล้วรับยาเลยหรือบางคนอาจถูกส่งต่อไปยังหมอหน่วยอื่น หรือหมอสาขาอื่น

รู้หรือไม่ว่า…แท้จริงแล้วหมออายุรกรรมรักษาโรคที่เกี่ยวกับอะไรบ้าง? และทำไมถึงได้ชื่อว่าเป็น “นักสืบสวนโรค”

ทำความรู้จักอายุรศาสตร์แบบเจาะลึก จากเหล่าอายุรแพทย์ระดับอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ และประสบการณ์ตรงจากแพทย์ประจำบ้าน (resident) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมไขข้อสงสัยและจะให้คำตอบว่าการจะเป็นหมอที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักสืบ” ผู้ค้นหาสาเหตุของอาการป่วยนั้น ต้องฝ่าฟันและผ่านด่านไหนบ้าง

รู้จัก อายุรศาสตร์’ ให้มากขึ้น

รศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอธิบายในเบื้องต้นว่า อายุรศาสตร์ (Internal Medicine) เป็นศาสตร์แห่งการดูแลผู้ป่วย จากปัญหาอาการต่าง ๆ สู่การวินิจฉัยและรักษา โดยมองโรคที่เกิดขึ้นภายในร่างกายอย่างเป็นระบบองค์รวม อายุรศาสตร์จึงเป็นศาสตร์พื้นฐานที่แก้ปัญหาให้ผู้ป่วย และหมอที่รักษาโรคทางอายุรศาสตร์เรียกว่า “อายุรแพทย์” สถานที่ทำงานคือในแผนกอายุรกรรม

“อธิบายง่ายๆ ว่าอายุรแพทย์คือหมอที่ดูแลในการวิเคราะห์โรค  ค้นหาสาเหตุของโรค ซึ่งทำได้จากประวัติและการตรวจร่างกาย หรือต้องใช้การตรวจพิเศษอย่างอื่น เช่น ตรวจเลือด ตรวจทางรังสีและอัลตราซาวน์  การเจาะน้ำหรือเนื้อเยื่อจากอวัยวะที่เป็นโรค  เป็นต้น เมื่อวินิจฉัยได้แล้วก็รักษาโดยการใช้ยา หรือการทำหัตถการบางอย่าง เช่น การส่องกล้อง การสวนหัวใจ หรือต้องปรึกษาแพทย์สาขาอื่นมาช่วยกันรักษา เช่น ศัลยแพทย์ หรือรังสีแพทย์ เป็นต้น ที่ทำงานของอายุรแพทย์จึงเป็นห้องตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วย ไอซียู และพื้นที่สำหรับสำหรับการรักษาจำเพาะต่างๆ เช่น ห้องสวนหัวใจ เป็นต้น กล่าวได้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาโรงพยาบาลจะพบอายุรแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น รพ.ศิริราช ให้บริการคนไข้นอกประมาณ 2 ล้านคนต่อปี พบมี

             คนไข้ที่มาห้องตรวจอายุรศาสตร์ประมาณ 4 แสนคน มาพบแพทย์เวรหรือห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นปัญหาด้านอายุรศาสตร์อีกประมาณ 1 แสนคน รวมคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการทั้งหมดน่าจะราว 7 แสนคน ซึ่งก็คือ 1 ใน 3 ของคนไข้ศิริราชทั้งหมด”

“ความรู้ทางอายุรศาสตร์มีตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับลึก นักศึกษาแพทย์จะได้รับการสอนอายุรศาสตร์พื้นฐานซึ่งเมื่อจบปีที่ 6  เขาจะสามารถวินิจฉัยโรคง่ายๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนสามารถรักษาคนไข้ทั่วไปได้ ความรู้นี้จะเป็นพื้นฐานหลักคิดเมื่อพวกเขาไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น แต่ถ้าแพทย์สนใจในการดูแลผู้ป่วยที่ยากซับซ้อนขึ้น เขาจะต้องกลับมาฝึกอบรมเพิ่มเติมในหลักสูตรของอายุศาสตร์ เพื่อเป็นอายุรแพทย์ และถ้าอายุรแพทย์ต้องการความรู้เพิ่มเติมจำเพาะอวัยวะ เขาสามารถเข้ามาฝึกอบรมต่อยอดขึ้นไปอีกการเป็นอายุรแพทย์จำเป็นต้องศึกษาเชิงลึกในความผิดปกติในโรคระบบต่าง ๆ ดังนั้นจึงต้องกลับมาอบรมเพิ่มเติมอีก ตัวอย่างเช่น เป็นอายุรแพทย์โรค โรคปอด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น” 

รศ.นพ.สุพจน์ พงศ์ประสบชัย รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ฝ่ายการศึกษาระดับหลังปริญญา ฉายภาพให้เห็นความต้องการอายุรแพทย์ว่า สำหรับประเทศไทย จำนวนและอัตราการผลิตอายุรแพทย์ของโรงเรียนแพทย์ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพของคนไทย ปัจจุบันมีที่นั่งสำหรับอายุรแพทย์ทั่วไปปีละประมาณ 370 ที่นั่ง โดยที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รับได้ปีละ 51 ตำแหน่ง ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่ายังมีตลาดอีกมากสำหรับอายุรแพทย์

กว่าจะเป็นอายุรแพทย์ต้องผ่านอะไรบ้าง?

รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ฝ่ายการศึกษาระดับหลังปริญญา บอกอีกว่า “อายุรแพทย์ทั่วไป อบรม 3 ปี ปัจจุบันกระจายอยู่ในโรงพยาบาลขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ทั่วประเทศ อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหลัก ๆ เช่น  หัวใจ ปอด ทางเดินอาหาร ไต ประสาท อาจจะกระจายอยู่ในเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่ ๆ เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ หาดใหญ่ ขอนแก่น ฯลฯ แต่อายุรแพทย์อีกหลายสาขา เช่น ต่อมไร้ท่อ มะเร็ง โรคเลือด หรือแม้แต่อายุรแพทย์ที่ดูแลเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม มักจะอยู่ที่ส่วนกลางหรือโรงเรียนแพทย์ ดังนั้น การมีอายุรแพทย์ทั่วไปและอายุรแพทย์เฉพาะทางจึงเป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมการรักษาคนไข้ให้เข้มแข็งมากขึ้น

“สำหรับการฝึกอบรมหมอ MED หรือหมออายุรกรรม ทันทีที่เข้าสู่การอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้าน เขาเป็นหมอเต็มตัว รุ่นน้องหรือนักศึกษาแพทย์จะมาเรียนกับเขา แพทย์ประจำบ้านจะเรียนแบบเป็นผู้ใหญ่ รูปแบบการฝึกจะเป็นแบบ on the job training คือเรียนจากการทำงาน

Resident ปี 1: เป็นการวางรากฐานการเป็นอายุรแพทย์ให้กับแพทย์ประจำบ้าน การทำงานจะอยู่ภายใต้การช่วยเหลือของแพทย์ประจำบ้านรุ่นพี่ชั้นปีที่ 3 จะต้องผ่านหอผู้ป่วยสามัญ หอผู้ป่วยพิเศษ ไอซียู ห้องฉุกเฉิน ตึกผู้ป่วยนอก จิตเวช และมีการพักร้อน 2 สัปดาห์

Resident ปี 2: เป็นช่วงเติมความรู้อายุรศาสตร์เฉพาะทางให้กับแพทย์ประจำบ้าน โดยต้องผ่านสาขาวิชาต่าง ๆ สาขาละ 1 เดือน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องโรคเฉพาะสาขาให้แม่นยำและลงลึก เช่น หัวใจ ระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อ โรคปอด ระบบประสาท มะเร็ง โรคเลือด ต่อมไร้ท่อ ฯลฯ ภายในหนึ่งปีจะผ่านทั้งหมด 12 สาขา ซึ่งจะทำให้ความรู้ในสาขาต่าง ๆ ของแพทย์ประจำบ้านเก่งขึ้น

                Resident ปี 3: จะกลับมาอยู่กับ Resident ปี 1 เพื่อรับบทเป็นหัวหน้าทีม ผ่านหอผู้ป่วยที่เคยผ่านตอนปี 1 มาแล้ว เขาจะมาสอนรุ่นน้องปีหนึ่งซึ่งเข้ามาใหม่

ในช่วง 3 ปี เราเรียกว่าการหมุนเวียน (rotation) มีรุ่นพี่ปี 3 คอยสอน และกำกับโดยอาจารย์อีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นแพทย์ประจำบ้านจะไม่โดดเดี่ยว หรือลองผิดลองถูกโดยลำพัง ดังนั้น เมื่อผ่านไปแต่ละเดือนเขาก็จะเป็นหมอที่เก่งขึ้นๆ เมื่อแพทย์ประจำบ้านเรียนจบเป็นอายุรแพทย์ทั่วไปได้สักระยะ บางคนจะเริ่มรู้ตัวเองว่าเขาสนใจด้านใดเป็นพิเศษ อาจจะทำได้ดีหรือทำแล้วมีความสุข สามารถตัดสินใจเรียนต่อก็ได้ แต่ภาพรวมประมาณ 50% กลับมาเรียนต่อเฉพาะทาง หรือเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอด” รศ.นพ.สุพจน์ ให้รายละเอียด

สิ่งต้องรู้ เพื่อปูทางสู่ อายุรแพทย์  ขั้นเทพ

.นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชพันธุศาสตร์ 1 ใน 10 ของประเทศไทย บอกเล่าประสบการณ์เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ รุ่นใหม่ว่า “ผมสนใจอายุรแพทย์มาตั้งแต่เด็ก ๆ เลย โดยส่วนตัวผมก็คิดแล้วเห็นว่า ตัวเองมีคุณสมบัติที่ตรงกับลักษณะของอายุรแพทย์ โดยส่วนตัวไม่ชอบห้องผ่าตัด ไม่น่าเหมาะกับการยืนอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ ผมชอบคุยกับคน และอยากรู้โรคที่หลากหลาย จึงเลือกมาเป็นอายุรแพทย์ และการเลือกเฉพาะทางด้านพันธุกรรมนั้น เพราะแพทย์เฉพาะทางด้านนี้มีน้อยมากเมื่อเทียบกับโรคที่เกิดขึ้นในเมืองไทย หมอพันธุศาสตร์ในผู้ใหญ่แทบจะไม่มีเลย ซึ่งขณะนั้นอาจารย์ ศ.เกียรติคุณ พญ.จินตนา ศิรินาวิน ท่านก็เป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งว่าทำไมผมจึงสนใจเลือกมาเรียนในสาขานี้”

อ.นพ.ชนินทร์ ย้ำว่า “แท้จริงแล้วความชอบของแพทย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เนื่องจากวิชาอายุรศาสตร์ต้องรู้กว้าง ก็มักจะดึงดูดนักเรียนที่ความจำค่อนข้างดี มีความสนใจการแพทย์หลากหลายสาขา มากกว่าลึกไปในทางใดทางหนึ่ง และที่สำคัญ อายุรแพทย์มักจะดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เพราะฉะนั้นเราต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนไข้

อายุรแพทย์จึงมักดึงดูดแพทย์ที่ชอบพูดคุยกับผู้ป่วย ชอบดูแลปัญหาเรื้อรัง เน้นคนที่ค่อนข้างอดทน เพราะปัญหาจะไม่ได้แก้ภายในครั้งเดียวรับฟังปัญหาของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาใหม่ในคนไข้คนเดิม ไม่เบื่อง่าย มีศิลปะในการใช้ยา รู้จังหวะการเพิ่มหรือลดยา เพราะฉะนั้นเครื่องมือของอายุรแพทย์ที่สำคัญมีสองอย่างคือ การสืบค้นโรคทางห้องปฏิบัติการ จะต้องชำนาญที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกเจาะเลือดอะไร ตรวจปัสสาวะอะไร ส่งตรวจ เอ็กซเรย์ประเภทไหนบ้าง และเครื่องมือที่สองก็คือการรักษาด้วยยาเป็นหลัก ซึ่งยาก็จะมีความหลากหลายค่อนข้างสูง ซึ่งอายุรแพทย์จะต้องมีความจำดี และมีความรู้กว้าง

หมอ MED ที่เก่งและดี ควรเป็นอย่างไร?

 “เวลามีนักเรียนมาถามว่าเขาสนใจเรียนอายุรศาสตร์ อยากให้เขาสำรวจตัวเองก่อนว่า เขาเข้าใจลักษณะงานในชีวิตของอายุรแพทย์จริงๆ แล้วนะ ชอบจริงหรือเปล่า ผมคิดว่าอายุรแพทย์เป็นสาขาที่ดึงดูดคนที่สนใจที่มีบุคลิกเป็นคนที่อดทน รักการดูแลคนไข้โรคเรื้อรัง ชอบสัมพันธภาพระหว่างแพทย์และผู้ป่วยในระยะยาว เป็นคนที่ชอบความรู้ในวงกว้าง อาจจะลึกในบางสาขา และชอบติดตามความก้าวหน้าและศึกษาความรู้ไปตลอดชีวิต ถ้าคุณมีคุณสมบัติเหล่านี้น่าจะเข้ามาเป็นอายุรแพทย์ได้ ทำงานโรงพยาบาลได้ เลี้ยงตัวเองได้และเป็นประโยชน์ต่อคนไข้จำนวนมากด้วย”

.นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์

“ผมบอกได้เลยว่าอายุรศาสตร์ไม่มีตกงาน มีแต่จะเป็นที่ต้องการ ซึ่งเขาสามารถทำหน้าที่เป็นอายุรแพทย์ทั่วไปได้ตลอดชีวิต อยู่ได้อย่างมีเกียรติในสังคม สำหรับอายุรศาสตร์ทั่วไป สามารถฝึกฝนตัวเองเพิ่มเติม ในหลักสูตรระยะสั้นที่สนใจ เพิ่มพูนทักษะเพื่อกลายเป็นผู้ชำนาญด้านต่างๆ ได้ หรือถ้าใครต้องการเป็นอายุรแพทย์เฉพาะทาง ก็สามารถเลือกเรียนต่อเฉพาะทางอีก 2 ปีตามความสนใจ”

รศ.นพ.สุพจน์ พงศ์ประสบชัย

 “ไม่ว่าแพทย์สาขาใดหากได้ทำงานที่ตัวเองรัก แม้งานจะหนัก แต่ที่สุดแล้วก็จะแบ่งเวลาเพื่อใช้ชีวิตได้ อาชีพหมอเป็นอาชีพที่มีโอกาสสูงที่จะได้ทำประโยชน์ หรือทำบุญให้กับตนเอง ครอบครัว คนไข้ และสังคม ผมคิดว่าอายุรศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่ควรมีความภาคภูมิใจและอยากเชิญชวนให้คนที่เป็นอายุรแพทย์ทุกคนจึงภูมิใจในตัวเอง เพราะเราช่วยเหลือคนได้มากมหาศาล”

รศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล

อาจารย์หมอทุกท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามาเรียนอายุรศาสตร์เถอะ เพราะการจบมาเป็นอายุรแพทย์แล้ว ถือว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า เป็นที่ต้องการของทุกโรงพยาบาล สำหรับอาจารย์หมอเองก็ยังทำหน้าที่ให้การฝึกฝนให้นักเรียนแพทย์ต่อ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์ต่อไป

ชีวิตจริงของ Resident Med เทียบกับซีรีส์ที่เราดู

จากผลการสำรวจอาชีพในฝันของเด็กไทยในวัย 7-14 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2562-2564 โดย กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย พบว่าอาชีพอันดับหนึ่งที่เด็กไทยอยากเป็นมากที่สุด คือ “หมอ” และรองลงมาคือ ครู, ยูทูบเบอร์, ดารา-นักร้อง และ ตำรวจตามลำดับ และนี่คือคำแนะนำของหมอรุ่นพี่ที่อยากจะฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเป็นหมอ MED

หมอแชมป์นพ.ธีรเมธ ปังประเสริฐ แพทย์ประจำบ้านสาขาวิชาอายุรศาสตร์ประสาทวิทยา (Neurology) ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เล่าว่า เขาเติบโตในครอบครัววิศวกร แต่คณะแรกที่ครอบครัวไม่อยากให้สอบเข้าคือ วิศวกรรมศาสตร์ เข็มจึงเบนมาที่แพทยศาสตร์ แม้จะเรียนได้ดี แต่หมอแชมป์ก็เคยมีช่วงเวลาที่คิดว่า “เรียนหมอไม่สนุก” จนกระทั่งได้พบกับวิชาประสาทกายวิภาคศาสตร์ (Neuroanatomy) ขณะที่เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 จากนั้นตั้งแต่ปี 4 ถึงปี 6 หมอแชมป์ลงเรียนวิชาเลือกที่เป็น Neuro Medicine ทุกปี และตั้งเป้าว่าจะเป็นอายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยาให้ได้

“ยอมรับว่าช่วงเรียนพรีคลินิก ผมไม่มีความสุขในการเรียนเลย จนกระทั่งขึ้นปี 4 ก็รู้สึกว่าเรามีจุดมุ่งหมายว่าทุกๆ วันตื่นมาเราจะทำอะไร ไม่ใช่เรียนไปวันๆ อีกต่อไปแล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มสนุกขึ้นกับวิชาแพทย์ จนกระทั่งจบปี 6 จับฉลากไปใช้ทุนที่จังหวัดลำปาง ตอนแรกไปอยู่ที่รพ.ศูนย์ลำปางเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะฝึกอยู่ 1 ปี จากนั้นก็ออกไปใช้ทุนที่รพ.ชุมชนวังเหนือ อยู่บนภูเขา คนไข้มีทั้งชาวเขา ชาวไทย ตรงนั้นเองที่ทำให้เห็นชีวิตจริงของหมอ ได้เห็นว่าคนไข้ต้องการเราจริงๆ หลังจากนั้นก็มุ่งมั่นที่จะเรียนแพทย์ต่อในสาขาประสาทวิทยา

“ปีหนึ่งเราจะเรียนเหมือนแพทย์อายุรศาสตร์ทั่วไปครับ ดูคนไข้ในวอร์ดของอายุรกรรม เพื่อให้รู้หลายๆ โรคร่วมกันก่อน พอปีสองและปีสามค่อยลึกลงไปในสาขาประสาทวิทยา พอจบ 3 ปีก็ได้เป็นอายุรแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาท จากนั้นก็จะมีเส้นทางให้ต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเส้นเลือดในสมองตีบ โรคลมชัก โรคการเคลื่อนไหว โรคความจำเสื่อม สำหรับตัวผมอยากเรียนต่อด้าน Neuro Intervention (สาขาวิชารังสีวิทยาร่วมรักษาระบบประสาท) อยากทำงานวิจัยและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ก็หวังว่าตัวเองจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้”

เมื่อถามว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกอินกับซีรีส์หมอของต่างประเทศมาก ชีวิตจริงของหมอไทยมีอะไรแตกต่างไปหรือไม่? “หมอเพชร – นพ.พงศกร บุรพัฒน์” หัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน สาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่กำลังจะจบในเดือนมิ.ย. นี้ และมีแผนอยากจะต่อสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ (Cardiology) หมอเพชร ให้มุมมองว่า“เหตุการณ์หลายอย่างในละครหรือซีรีส์ถูกคัดเคส คัดฉากมาให้เนื้อเรื่องมีอรรถรส ซึ่งชีวิตจริงของหมออาจจะไม่ตื่นเต้นทุกตอนขนาดนั้น แต่สิ่งที่ผมคิดว่ามีจุดร่วมกันอยู่ระหว่างซีรีส์กับชีวิตจริง ก็คือ หมออย่างเราต่างก็อยากดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด พยายามหาทางรักษาคนป่วยให้หาย ยึดคนไข้เป็นศูนย์กลาง และรู้สึกอิ่มใจทุกครั้งที่คนไข้มีอาการดีขึ้นหรือหายดี ซึ่งทั้งหมดนี้เพราะเรามีต้นแบบจากอาจารย์และแพทย์รุ่นพี่ ที่ถ่ายทอดทั้งด้านวิชาการและจริยธรรม ชี้แนะแนวทางต่างๆ ให้อย่างดี”

“สำหรับคนที่อยากมาเรียนเพื่อเป็นอายุรแพทย์ นอกเหนือองค์ความรู้ทางวิชาการแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต้นๆ คือทัศนคติในการเข้าเรียนต่อ เพราะจริงๆ การเรียนต่อระดับหลังปริญญา มันก็เป็นการเรียนที่หนัก ต้องอาศัยเวลา ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการเรียน เราต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆ พร้อมที่จะเรียนรู้ เพราะวิชาแพทย์เป็นวิชาที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เพราะฉะนั้น อยากฝากน้องๆ ว่าต้องสำรวจตัวเองว่าพร้อมจะทำตรงนี้ไหม? ถ้าเริ่มต้นที่แอดติจูดที่ดี การเรียนก็จะดีได้” แพทย์รุ่นพี่ ฝากทิ้งท้าย

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 DasKLf.jpg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
‘ศิริราช’ ตั้งเป้าสู่การเป็น Smart Hospital ยกระดับการรักษาและบริการด้วยเทคโนโลยีและบุคลากรคุณภาพ
‘ศิริราช’ ปลื้ม! WHO อ้างอิงผลวิจัยวัคซีน ‘สูตรไขว้ เข็ม 3’ เผยแพร่ทั่วโลก
ศิริราช – กสทช. – หัวเว่ย ร่วมเปิดโครงการ “ศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G (Siriraj World Class 5G Smart Hospital)”
ขก.เปิดโรงพยาบาลสนาม-2 และ 3 เพิ่มเติมหลังพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ทะลุ 300 ราย ผู้ว่าฯสั่งตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงคลัสเตอ์ใหม่เชิงรุกอย่างเร่งด่วน
บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตอบแทนฮีโร่ บุคลากรการแพทย์ ให้เข้าชม ปราสาทสายฟ้า ณ ช้างอารีนา ฟรี!!!
ศิริราชสร้างไอซียูสนาม “หอผู้ป่วยวิกฤตโรคโควิด 19” เพื่อรับมือผู้ป่วยหนัก เปิดทำการ 30 ส.ค. นี้