ดีอีเอส สรุปสถานการณ์ข่าวปลอมรอบสัปดาห์ พบข่าวปลอม “เงินกู้ได้ทุกอาชีพ” ผ่านแบงก์กรุงไทย-แอปเป๋าตัง แท็คทีมชิง 2 อันดับแรกที่คนสนใจสูงสุด
นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 13–19 พ.ค. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบจำนวนข้อความที่เข้ามา 11,681,642 ข้อความ หลังการคัดกรองแล้วมีข้อความที่ต้องดำเนินการ Verify จำนวน 221 ข้อความ รวมจำนวนเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 122 เรื่อง
สำหรับข่าวปลอมที่คนสนใจสูงสุด 10 อันดับ มีดังนี้ อันดับ 1 กรุงไทยเปิดสินเชื่อส่วนบุคคลแบบหมุนเวียน ยืมได้100,000 บาท ผ่อนเดือนละ 300 บาท กู้ได้ทุกอาชีพ อันดับ 2 แอปเป๋าตัง ให้กู้เงิน 1 หมื่นบาท ลงทะเบียนได้ทุกอาชีพ อันดับ 3 กระเทียมดำมีฤทธิ์ใช้ป้องกันโรคมะเร็งในคนได้ อันดับ 4 ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบแทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม อันดับ 5 ไม่ต้องตรวจสภาพรถยนต์อายุเกิน 7 ปี และจักรยานยนต์อายุเกิน 5 ปี ที่ ตรอ. ก่อนเสียภาษี
อันดับ 6 ไทยเตรียมรับมือพายุไซโคลน ตั้งแต่วันนี้ – 20 พ.ค. 65 อันดับ 7 เตรียมรับมือพายุโคนีต่อจากพายุอัสนี อันดับ 8 เอาเล็บนิ้วหัวแม่มือจิกตรงร่องระหว่างปากและใต้จมูก ช่วยอาการวูบ หมดสติ อันดับ 9 ลุกจากที่นอนกระทันหัน ทำให้กระดูกกะโหลกศีรษะแตก หัวใจหยุดเต้น และอันดับ 10 อันตรายจากการโทรทางไลน์ ทำให้เกิดเนื้องอกในสมอง
“อย่างไรก็ตาม ถ้าดูภาพรวมของผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งกลับมาแล้ว 53 เรื่องในสัปดาห์นี้ พบว่าสัดส่วนเกือบ 50% หรือจำนวน 22 ข่าวเป็นข่าวจริง ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีของการตระหนักรู้เท่าทันและรอบคอบของผู้บริโภคข่าวสารบนโซเชียล เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมาซึ่งสัดส่วนข่าวปลอมจะสูงกว่ามาก” นางสาวนพวรรณกล่าว
โดยข่าวเที่ตรวจสอบและมีการยืนยันแล้วว่าเป็นข่าวจริง ได้แก่ ข่าวพาณิชย์ ขึ้นบัญชีคาร์ซีทเข้า Watch List เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสปรับราคาเกินควร ฝ่าฝืนมีโทษหนักคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท ข่าวกระทรวงแรงงาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น 3 ปี ผ่านองค์กร IM Japan ปี 65 ข่าวรัฐบาลเตรียมตั้งธนาคารอุปกรณ์คนพิการเพื่อส่งเสริมอาชีพ จังหวัดชายแดนใต้ 3 จังหวัด และข่าว สธ. เตรียมลดระดับเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 2 ปลายเดือน พ.ค. 65 เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ต้องขอความร่วมมือประชาชน เมื่อได้รับข้อมูลผ่านโซเชียล อย่าเพิ่งหลงเชื่อในทันที ขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูล โดยสามารถแจ้งข้อมูลมายังศูนย์ฯ เพื่อช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ และยืนยันข้อเท็จจริงต่อไป และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87
สนใจลงโฆษณาติดต่อนิตยา-0628929797 ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว >