ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยเศรษฐกิจอีสานฟื้นแน่ หลังภาคการเกษตรยังเป็นสัดส่วนรายได้ มากกว่าภูมิภาคต่างๆของไทย และราคาสินค้าการเกษตรก็ปรับตัวขึ้น ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆประสบปัญหาเงินเฟ้อ
เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2565 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด ขอนแก่น ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงานสัมมนา ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “อีสานพร้อมปรับ รับกระแสเศรษฐกิจการเงินใหม่” ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยมี นายศรัณย์ ธำรงรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวต้อนรับ มี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สนทนาหัวข้อ “ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม” สถานการณ์เศรษกิจการเงินภาคอีสาน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ และความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ต้องก้าวข้าม ท่ามกลางความสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการทางการเงินเข้าร่วมสัมมนาอย่างพร้อมเพรียง
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน มี 2 กระแสที่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างแน่นอน คือกระแสของความยั่งยืน และสถานการณ์โลกร้อน โดยเฉพาะอีสานที่พึ่งพาภาคการเกษตร มีแรงงานการเกษตรกว่าร้อยละ 50 ส่วนอีกกระแสคือโลกเข้าสู่ยุคดิจิตอล ที่ประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งมีทั้งเรื่องนวัตกรรมทางการเงิน การลงทุน ต้องการให้เห็นความสำคัญของกระแสดิจิตอล เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน การวางแผนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมได้มากขึ้น ทั้งเรื่อง อีคอมเมอร์ส เรื่องการค้าขาย จับจ่ายผ่านระบบออนไลน์ การค้าขายต่างประเทศที่จะทำให้สะดวกขึ้น
“เป็นการตอกย้ำถึงอิทธิพลของทั้ง 2 กระแส ที่มีผลต่อเศรษฐกิจในภาคอีสาน โดยจะนำเสนองานศึกษา ที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับตัว รวมถึงวิเคราะห์ภาพอนาคตเศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน และโอกาสในการยกระดับศักยภาพ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งผู้ประกอบการ ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางในการปรับตัวร่วมกัน ทั้งนี้ภายหลังหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว สิ่งที่ต้องการเห็นคือการฟื้นตัวของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว สำหรับอีสานพบว่ามีหลายปัจจัยทั้งบวกและลบ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจในอีสานฟื้นตัว ในแง่บวกอีสานถือว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งช่วงหลังพบว่าราคาสินค้าภาคการเกษตรมีราคาสูงขึ้น”
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่ภาคอื่นพบว่าเป็นเงินเฟ้อและเป็นต้นทุนสำหรับภาคอื่นๆ แต่สำหรับภาคอีสานราคาสินค้าภาคการเกษตรที่มีราคาแพงขึ้น จะช่วยพยุงเรื่องของรายได้ ซึ่งจะช่วยพยุงเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันภาคอีสานมีความเปราะบางมากกว่าพื้นที่อื่นในประเด็น หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยสูง และมีรายได้ต่ำกว่าภาคอื่นอีกด้วย
” สำหรับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีผลในเดือนตุลาคมนี้ มองว่าจะมีผลต่อต้นทุนการลงทุนที่จะตามมา ร้อยละ 50 ของแรงงานการเกษตร นอกจากนี้การค้าปลีก ค้าส่ง ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ ซึ่งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้รับอานิสงค์มากนัก อย่างไรก็ดีขอนแก่น พบว่ามีความโดดเด่นของความร่วมมือระหว่างองค์กร ทั้งผู้ค้าขาย นักธุรกิจ ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในเรื่องการปรับตัวเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการปรับตัวของธุรกิจในภูมิภาคในอนาคต”
ติดตามสัมภาษณ์พิเศษ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ภาพรวมเกี่ยวกับการเงินในภาคอีสาน
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 >