ไฟเซอร์ ยกระดับไปอีกขั้น สร้างสรรค์นวัตกรรมรองรับวิกฤตโควิด-19 พัฒนาครอบคลุมในทุกมิติ
วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต และความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาล การวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการป้องกัน การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจากโรค จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับวิกฤตในปัจจุบัน และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน
ในช่วงการสัมมนา “Lesson Learned From COVID-19: Innovations for the Next Pandemic” หนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นในงานไบโอ เอเชีย แปซิฟิค 2022 (Bio Asia Pacific 2022) ที่ไบเทค บางนา นางสาวเด็บบราห์ ไซเฟิร์ท ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และอินโดไชน่า กล่าวว่า “ไฟเซอร์ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี และการคิดค้นนำเสนอยาใหม่ ๆ ให้ได้อย่างรวดเร็วซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายหลักขององค์กรในการส่งมอบยาใหม่ที่เป็นนวัตกรรม (Breakthrough) เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วย โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ไฟเซอร์ตระหนักถึงปัญหา และความรุนแรงของสถานการณ์ ซึ่งจะป้องกันการเสียชีวิต และลดความรุนแรงได้ด้วยวัคซีน ควบคู่ไปกับยารักษา โดยหลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดกระจายในพื้นที่ขนาดใหญ่ (Pandemic) เพียง 6 วัน ไฟเซอร์ก็ได้ประกาศความร่วมมือกับ ไบออนเทค (BioNTech) ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยี mRNA และ 9 เดือนต่อมา วัคซีนดังกล่าวก็ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นรายแรกของโลกจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค ได้รับการอนุมัติแบบมีเงื่อนไขหรือภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินให้ใช้เพื่อป้องกันโควิด-19 ในกว่า 180 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย”
ด้าน ดร. นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า “วัคซีนได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรการที่สำคัญประการหนึ่งในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 โดยช่วยลดความรุนแรงของโรค และการเข้าพักรักษาในโรงพยาบาล นอกจากวัคซีนแล้ว ยาที่ใช้ในการรักษาก็มีส่วนสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด ไฟเซอร์ใช้เวลาประมาณ 16 เดือน ในการพัฒนานวัตกรรมยาใหม่เพื่อใช้ในการต้านไวรัสโควิด-19 โดยมุ่งเน้นที่กลไกการยับยั้งเอนไซม์ Protease ของไวรัส เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในร่างกาย ซึ่งยาชนิดรับประทานดังกล่าวได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนยาแบบมีเงื่อนไขหรือภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินใน 70 ประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ไฟเซอร์มีความภาคภูมิใจกับนวัตกรรมวัคซีนและยา ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง และลดความรุนแรงของสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่เรายังคงยืนหยัดในการวิจัยและพัฒนายา และวัคซีนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อการรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปรวมถึงสายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนา ทั้งการพัฒนาวัคซีนสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึงต่ำกว่า 5 ปี และวัคซีนที่พัฒนาจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ Omicron การศึกษาประสิทธิผล และความปลอดภัยของการใช้ยาต้านไวรัสในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านภูมิคุ้มกันบกพร่องรวมถึงการวิจัย และพัฒนายาต้านไวรัสรุ่นใหม่”
“ไฟเซอร์ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำมาซึ่งนวัตกรรมยาในการรักษา 6 ด้าน ได้แก่ มะเร็งวิทยา อายุรกรรม วัคซีน การอักเสบและภูมิต้านทาน โรคที่พบได้ยาก และยาต้านการติดเชื้อ ซึ่งไฟเซอร์ยังคงมุ่งมั่นในการต่อยอดจากประสบการณ์ และการเรียนรู้จากช่วงวิกฤตโรคระบาด โดยร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรเพื่อขยายการเข้าถึงผู้ป่วยในวงกว้าง นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียมกันในทุกภาคส่วนของทุกประเทศทั่วโลก โดยในปี พ.ศ. 2564 ไฟเซอร์สามารถส่งมอบยาและวัคซีนให้แก่ผู้ป่วยกว่า 1.4 พันล้านคนทั่วโลก และนอกจากความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยแล้ว ไฟเซอร์มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นางสาวเด็บบราห์ กล่าวปิดท้าย
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797