วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

GPSC – ธ.ก.ส. ศึกษาพื้นที่เกษตร ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯ-ลม

GPSC – ธ.ก.ส. ผนึกกำลังสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรที่มีศักยภาพ ปักหมุดผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ทั้งแสงอาทิตย์ และลม ควบคู่กับการประยุกต์ใช้นวัตกรรมพลังงาน พลิกโฉมภาคการเกษตรของไทยให้ก้าวสู่เกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming   ที่สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรและต่อยอดการขอฉลากรับรองการประกอบการเกษตรกรรมสีเขียวจาก ธ.ก.ส. ในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 โดย ธ.ก.ส. พร้อมเติมทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) วงเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท

  วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2565) นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดกับ นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยการศึกษามุ่งเน้นในการนำพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพ มาพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น 

แสงอาทิตย์ ลม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดในภาคเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และยกระดับภาคการเกษตรของไทยก้าวสู่การเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming พร้อมเติมทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) วงเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ตามเป้าหมายของประเทศ

 นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมกันศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อหาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพ ซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ที่สามารถนำมาพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ โดยที่เกษตรกรยังคงสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมคู่ขนานกันไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ พร้อมกับหาแนวทางในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดในส่วนของไฟฟ้ามาใช้ในภาคเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าพืชผลทางการเกษตรให้สูงขึ้น ซึ่งจะตอบโจทย์การเกษตรอย่างยั่งยืน

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรในการพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ซึ่งความร่วมมือกับ GPSC จะช่วยเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และลมที่เป็นพลังงานสะอาด  และมีอยู่ตลอดทั้งปีในประเทศไทย รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริมศักยภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุนและสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมที่จะเชื่อมโยงในการนำความรู้ต่าง ๆ ของ GPSC ไปยังเกษตรกรเพื่อปรับใช้ในกระบวนการผลิต การแปรรูปเพิ่มมูลค่า ทั้งในส่วนของการผลิตที่เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 

ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด ในการทำเกษตรอินทรีย์และผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว  (Green Credit)  วงเงินรวม  20,000  ล้านบาท ในส่วนของการ

ขับเคลื่อนการลดปัญหาภาวะโลกร้อน ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนร่วมปลูกป่าในพื้นที่ของตนเองและชุมชนผ่านโครงการธนาคารต้นไม้ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) และกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ในชุมชน ปัจจุบันมีธนาคารต้นไม้เข้าร่วมโครงการ 6,838 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนในโครงการ 12.4 ล้านต้น มีสมาชิก 123,845 ราย และมีชุมชนที่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกจำนวน 62 ชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศในการลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ความยั่งยืน

GPSC และ ธ.ก.ส. มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการใช้พลังงานสะอาดในการทำการเกษตรกรรมร่วมด้วย อีกทั้งเกษตรกรยังอาจสามารถต่อยอดเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับฉลากรับรองการประกอบการเกษตรกรรมสีเขียว (Green Farming Certificate) ในอนาคต 

ซึ่งเป็นการการันตีผลผลิตที่ได้จากการเกษตรที่ผลิตจากพลังงานสะอาด ถือเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งของพัฒนาอาชีพเกษตรกรยุคใหม่ และยังเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้พลังงานสะอาด ในการยกระดับมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรของไทยที่สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เพื่อความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของทั้งสององค์กร จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยคัดเลือกพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพในทุกพื้นที่ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในส่วนของ GPSC จะนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เหมาะสม เข้าไปสนับสนุนภาคการเกษตร ทั้งการติดตั้งระบบพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แสงอาทิตย์ และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านการบริหารจัดการพลังงาน เข้าไปควบคุมการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบการใช้งานของภาคการเกษตร ซึ่งจะทำให้การพัฒนาภาคการเกษตรของไทยเป็นเกษตรยุคใหม่ที่มีความยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่แสวงหาแนวทางการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วนมากขึ้น

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 DasKLf.jpg 8JER4J.jpg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg