ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2565 ทรงตัวจากปีก่อน โดยมีทิศทางแผ่วลงในไตรมาส 4/2565 โดยการบริโภคภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงเดิม เนื่องจากค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และรายได้เกษตรกรหลังหักชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง จากการก่อสร้างที่เร่งไปในปีก่อน และการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ชะลอตัวตามการผลิตเพื่อส่งออก สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง หลังเผชิญปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากมาตรการ Zero-Covid ในจีนและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว ขณะที่สินค้าเกษตรแปรรูปและเครื่องดื่มขยายตัวดี จากผลผลิตเกษตรและการเปิดเมือง แรงส่งจากภาคการคลังลดลง ตามการจัดสรรงบประมาณที่ลดลง หลังจากสถานการณ์วิกฤติโควิดคลี่คลาย และมูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรหดตัว ทั้งการส่งออกและนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ที่เร่งสูงในปีก่อนเพื่อรองรับการทำงาน
ที่บ้าน ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจอีสาน ได้แก่ รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่อง ตามราคาพืชสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ปศุสัตว์ และมันสำปะหลัง เป็นต้น และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการผ่อนคลายล็อกดาวน์ที่ช่วยให้ภาคบริการและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องฟื้นตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงในช่วงปลายปี จากปัญหาอุปทานที่คลี่คลาย แต่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงานและอาหารสด และตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น จากจำนวนผู้มีงานทำมาตรา 33 ที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2566 คาดว่าขยายตัวเล็กน้อย โดยการผลิตขยายตัวจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มตามการเปิดเมืองที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้เต็มรูปแบบ ขณะที่ผลผลิตเกษตรทรงตัวใกล้เคียงเดิม สอดคล้องกับด้านการใช้จ่าย โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อย ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ และตลาดแรงงานที่อยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงเดิม
เตือนภัยทางการเงิน
ภัยทางการเงินที่พบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงไตรมาส 4/2565 ส่วนใหญ่เป็นการ “หลอกให้กู้เงิน” ผ่านแอปพลิเคชัน โทรศัพท์ SMS Social media และเว็บไซต์ โดยมีการแอบอ้างชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือใช้โลโก้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ดูน่าเชื่อถือ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ไม่หลงเชื่อกลโกงของมิจฉาชีพ จึงแนะนำให้ตรวจสอบว่าผู้ให้กู้เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.หรือไม่ ดังนี้
1) เข้าเว็บไซต์ ธปท. www.bot.or.th เลือก “เช็กแอปเงินกู้”
2) โทรติดต่อผู้ให้บริการที่ถูกแอบอ้างโดยตรงจากเบอร์โทรที่ปรากฏ
3) หากไม่แน่ใจให้โทรศัพท์สอบถามไปยังสายด่วนแบงก์ชาติ เบอร์ 1213
ทั้งนี้ ให้สังเกตว่า ถ้าผู้ให้กู้แจ้งให้ “โอนเงินไปก่อน” โดยอ้างว่าเป็นค่าประกันชีวิต ค่าปลดล็อคบัญชี ค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ แจ้งว่าหลังจากโอนเงินแล้วจะคืนให้พร้อมเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติ ขอให้พึงตระหนักว่ามีโอกาสจะถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพสูง
นอกจากนี้ ในระยะหลัง พบว่ามิจฉาชีพมีการหลอกลวงด้วยการส่งลิงก์ให้กด เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมมือถือ ธปท. ขอแจ้งวิธีการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่ใช้แอปควบคุมมือถือด้วยตัวเองง่าย ๆ ดังนี้
1) ไม่คลิกลิงก์จากข้อความ (SMS) ไลน์ หรืออีเมลที่ไม่รู้จัก
2) ไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่อยู่นอก Play Store และ App Store
3) อัปเดต Mobile Banking อยู่เสมอ
หากตกเป็นผู้เสียหาย ให้รีบติดต่อสถาบันการเงินเจ้าของบัญชี และแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com และหากพบธุรกรรมที่น่าสงสัย ให้รีบติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารเจ้าของบัญชีทันที
ท่านสามารถดาวน์โหลด เอกสารแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 4/2565 ได้ที่
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/RegionalEconomy/Documents/01_NE_Publish/Press_NE_Q4_65.pdf
ท่านสามารถดาวน์โหลด เอกสารภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนธันวาคม 2565
ไตรมาส 4/2565 และปี 2565 ได้ที่
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/RegionalEconomy/Pages/Northeastern_Economy.aspx
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 >