วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จับมือ 50 องค์กร ร่วมรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. แบบเรียลไทม์

22 มี.ค. 2023
456

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU ร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วนกว่า 50 องค์กร ผนึกกำลังรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไป 2566 พร้อมเทคโนโลยี Crowdfunding ระดมทุนเพื่อสนับสนุนอาสาสมัคร 100,000 คน รายงานผลคะแนนเลือกตั้งจากทุกหน่วยเลือกตั้ง 95,000 หน่วย ผ่านแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ เริ่มรายงานผลแต่ละหน่วยเลือกตั้งจากทุกเขตหลังปิดหีบประมาณ 17.15 น. เป็นต้นไป

        วันอังคารที่ 21 มีนาคม 2566 เวลา 9.30-11.30 น. ที่ผ่านมา ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเทศไทย นำองค์กรร่วมจัดงานและพันธมิตรแถลงข่าว โครงการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป 2566 (อย่างไม่เป็นทางการ) โดยผนึกกำลังร่วมกับ 50 องค์กร ยกระดับแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งซึ่งจะทำให้ทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในเบื้องต้นรอบแรก 2 ชั่วโมงหลังปิดหีบเลือกตั้ง ในเวลา 17.00 น. และคาดว่าจะทราบแนวโน้มสัดส่วนคะแนนแบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคและ ส.ส.เขตที่มีคะแนนนำอันดับหนึ่งครบทุกเขตไม่เกินเวลา 21.00 น. ของวันเลือกตั้ง

        โดยตลอดช่วงระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย), สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสื่อมวลชนรวมกว่า 34 สำนัก ได้จับมือกับองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพันธมิตร อาทิ สมาคมฟินเทคประเทศไทย, สมาคมเมตาเวิร์สไทย, D-Vote, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ฯลฯ เพื่อสนับสนุนการรายงานผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นเป็นอนาคตประเทศไทย

        ขณะที่ทางด้านเทคโนโลยีการพัฒนาได้ทำระบบเชื่อมต่อเครือข่ายอาสาสมัครจากหลายๆ องค์กรให้สามารถใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมอบหมายหน้าที่อาสาสมัครในวันเลือกตั้ง ระหว่างการรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ การถ่ายภาพกระดานนับคะแนน และใบรับรองผลการนับคะแนน ส.ส. ในแต่ละหน่วยเพื่อส่งเข้ามาเก็บไว้ในระบบ Cloud และ Blockchain ในส่วนกลางให้สามารถตรวจสอบได้ภายหลัง

        นอกจากนี้ยังได้ออกแบบการบริหารอาสาสมัครไว้ 3 ระดับเพื่อให้การรายงานผลคะแนนเลือกตั้งเป็นไปอย่างครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้ง และส่งคะแนนเข้าระบบประมวลผลในศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องมากที่สุด ได้แก่

        ระดับที่ 1 อาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง 400 เขตที่มีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 95,000 หน่วย รวมอาสาสมัครประมาณ 100,000 คน ประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง

        ระดับที่ 2 อาสาสมัครหัวหน้าเขตเลือกตั้ง 400 เขต และทีมงานที่จะมีการทำงานประสานกันกับ กกต.เขต และ กกต.จังหวัดในการนับคะแนนที่เจ้าหน้าที่ กกต.เขตกรอกเข้าไปในระบบ ETC Report ซึ่งจะมีแนวทางการทำงานร่วมกับบุคลากรในระดับอุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน

        ระดับที่ 3 อาสาสมัครศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้ง Election Day War Room ซึ่งวอร์รูมจะทำหน้าที่การรวมศูนย์การส่งคะแนนจากอาสาสมัครทั้ง 400 เขต จากอาสาสมัคร 100,000 คน เพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบความถูกต้องคะแนนให้ถูกต้องมากที่สุดก่อนส่งเข้าระบบประมวลผลต่อไปของส่วนกลางและเชื่อมโยงไปถึงสำนักข่าวต่างๆ 34 สำนักที่เข้าร่วมโครงการ

        สำหรับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) อาจารย์นิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษา เป็นตัวแทนร่วมงานแถลงข่าวและดำเนินการส่งอาสาสมัครลงตามหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่เขตเลือกตั้งใกล้มหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียง โดยหากอาสาสมัครและนักศึกษาท่านใดมีความสนใจจะร่วมสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยทางหนึ่ง สามารถเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง และสามารถแจ้งความจำนงมาได้ผ่านทางมหาวิทยาลัย

        “แอปพลิเคชันการนับคะแนนเอาไว้ช่วยงานผู้สังเกตการณ์ ทำให้คะแนนมีการรวมศูนย์ เพื่อที่จะนำเสนอต่อประชาชนได้แบบเรียลไทม์ ขณะที่ในเรื่องของการร่วมทุนร่วมแรงอาสาสมัคร จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ 2 ด้าน คือ 1. ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยขับเคลื่อนให้การเลือกตั้งโปร่งใสขึ้น เพราะได้ภาคประชาชนมาช่วยดูเหตุการณ์ในการนับคะแนน ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้นแล้ว และ 2. ช่วยสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการทางประชาธิปไตย เนื่องจากก่อนหน้านี้เรามักจะคิดว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. หรือ นักการเมือง ส่วนประชาชนมีสิทธิหน้าที่ในการไปลงคะแนนเลือกตั้งอย่างเดียว ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเรามีส่วนรวมอะไรมากกว่านี้ได้ และมันจะก่อเกิดพลังในการลุกขึ้นมาเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ช่วยผลักดันประเทศได้” อาจารย์นิติ ระบุ

        “ซึ่งผลดีของการที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เข้าร่วมโครงการนี้ จะเป็นการเปิดให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วม ไม่เพียงสร้างความตระหนักรู้จากสื่อ แต่เป็นการได้ลงมือเข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ และยังได้ประสบการณ์อีกด้วย เช่นถ้าสายถ่ายภาพก็จะได้รู้ประสบการณ์ว่ามืออาชีพเขาถ่ายภาพกันมุมไหน นำเสนอส่วนไหน รอข่าวจากไหน หรือ สายเทคโนโลยีไปดูการทำงานแอปพลิเคชัน เอาระบบทำงานมาต่อยอดพัฒนากับเรื่องอื่นได้ นอกจากนี้ยังได้เรื่องการทำงานร่วมกับคน ทำงานเป็นทีม ทำงานกับคนเก่งที่มีความหลากหลายและมากฝีมือ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ นอกจากนี้ทาง DPU ก็เตรียมจัดในเรื่องของการดีเบตเชิงนโยบายของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่จะทำให้นักศึกษาของเรามีความตื่นตัว มีส่วนร่วม ทำให้เขารู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และเราทุกคนคือผู้ที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวหน้าพัฒนา” อาจารย์นิติ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 DasKLf.jpg 8JER4J.jpg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
CITE DPU จัดอบรม “เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่” ตั้งเป้าเพิ่มความเข้าใจ-ทักษะ และส่งเสริมอาชีพด้านยานยนต์
CADT DPU ตอบรับการบินเติบโต ยกระดับหลักสูตร ชูลักซ์ชัวรีเซอร์วิส เสริมศักยภาพบุคลากรรุ่นใหม่
IC DPU ยกระดับศูนย์กลางผลิตกำลังคนโลกยุคใหม่ จับมือพันธมิตรเสริมแกร่งทักษะ ‘ภาษา-บิสิเนส’ กุญแจสู่ความสำเร็จในอาชีพ
คณบดี CITE DPU เผยเบื้องหลังความสำเร็จ นศ.วิศวะ คว้า 2 รางวัลประกวดโครงงานสหกิจศึกษาดีเด่นระดับชาติประจำปี 2566  ชี้ DPU เน้นปั้นเด็กให้มีทักษะรอบด้าน รู้ลึก รู้กว้าง และเรียนรู้ได้
CIBA DPU จัดงาน CEO Talks มุ่งพัฒนาทักษะการบริหารองค์กรพร้อมสร้างเครือข่ายธุรกิจให้นักศึกษา
ภริยานายกรัฐมนตรี ร่วมแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์