
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2566 ที่โครงการอ่างเก็บน้ำท่าลาด ม.5 ต.หัวนาคำ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น นายจีระศักดิ์ ปานโกสิน เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำ1 กรมทรัพยากรน้ำ นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยและสิ่งปลูกสร้างด้านแหล่งน้ำ หลังผลการตรวจสอบเชิงลึกพบว่าเป็นอ่างเก็บน้ำที่เก่าอาจจะมีผลกระทบได้เนื่องจากใช้งานมานานกว่า 40 ปี

นายประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำ1 กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การตรวจสอบความมั่นคงและปลอดภัยของอ่างเก็บน้ำท่าลาดเป็น 1 ในโครงการเป้าหมาย ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่กรมทรัพยากรน้ำได้รับการถ่ายโอนมาจากกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท ที่สร้างเมื่อปี 2521 ปัจจุบัน มีอายุการใช้งานหลายสิบปี ทำให้การเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำและเขื่อน ทุกพื้นที่จะเป็นไปตามหลักวิศวกรรม ว่าถูกต้องหรือเหมาะสมหรือไม่และมีความต้องการจะเพิ่มประสิทธิภาพโครงการได้อย่างไร
“ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ดูแลจะต้องเพิ่มเติมองค์ความรู้อะไรบ้างเพื่อที่จะให้การดูแลรักษาโครงการนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการและปลอดภัย ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจ ทั้งประเทศจะมีทั้งสิ้น 65 อ่างเก็บน้ำ โดยที่ บ.ท่าลาด เป็น 1 ใน 65 อ่างที่ต้องมีการตรวจสอบ ในระยะที่ 1 ของโครงการนี้จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของกรมทรัพยากรน้ำว่าจะพัฒนาคนเป็นอันดับแรกและมาวางแผนการเพิ่มประสิทธิภาพของสิ่งก่อสร้างให้บรรลุวัตถุประสงค์”

ขณะที่นายจีระศักดิ์ ปานโกสิน เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรน้ำและกรมวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ที่จะให้ความช่วยเหลือกรมทรัพยากรน้ำทางด้านวิชาการและการพัฒนาบุคลากร โครงการที่วางไว้เบื้องต้นอันดับแรก สำรวจอ่างเก็บน้ำและเขื่อนในประเทศทั้งหมดทุกภูมิภาคและกำลังมีโครงการฝึกอบรมวิศวกรของกรมทรัพยากรน้ำ โดยขอนแก่นเป็นโครงการที่ 2 ซึ่งการสำรวจและตรวจสอบจะมี2 ขั้นตอน ขั้นแรกจะสำรวจเบื้องต้นด้วยสายตาว่าจะต้องสำรวจเชิงลึกเพิ่มเติมหรือไม่

“อ่างนี้สร้างมานานกว่า 45 ปี เท่าที่ประเมินด้วยสายตาน่าจะต้องมีการตรวจสอบเชิงลึกเนื่องจากว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและคุณภาพของโครงสร้างคอนกรีตสภาพของตัวอ่างที่มีต้นไม้ขึ้นอาจจะต้องมีการประเมินเชิงลึกเช่น ตรวจสอบความแข็งแรงของคอนกรีต และตรวจสอบสภาพของตัวอ่างว่ามีการทรุดตัวสำรวจความลึกของระดับเก็บกักที่เปลี่ยนไปจะได้ทำหน้าที่รายงานกรมทรัพยากรน้ำต่อไป”






