คณบดี CIBA DPU ระบุไทยยังมีความต้องการแรงงานด้านโลจิสติกส์-บัญชีอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาคธุรกิจจากสถานการณ์โควิด-19 เผยความพร้อมผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน ชูจุดเด่นหลักสูตรฝึกงานแบบสหกิจศึกษา 1 ปีเต็ม ชี้ทักษะแน่นจบแล้วพร้อมทำงานได้ทันที
ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า จากรายงานของ ManpowerGroup เผยแนวโน้มตลาดจ้างงานในไทยปี 2566 เพิ่มขึ้น ขณะที่ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง โดยระบุ 3 สายงาน ไอที-โลจิสติกส์- Sales กับ Marketing เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในไทย จะเห็นได้ว่า สายงานด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเป็นสายงานอันดับต้น ๆ ที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การสื่อสารที่ไร้พรมแดน ไร้ขีดจำกัด รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตตามไปด้วย เนื่องจากทุกภาคธุรกิจนั้นขับเคลื่อนด้วยโลจิสติกส์ นอกจากนี้ รัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญกับโลจิสติกส์ โดยบรรจุเป็น 1 ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบสาม (พ.ศ. 2566 – 2570) หมุดหมายที่ 5 ที่กำหนดยุทธ์ศาสตร์ให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์แห่งภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ทั้งทางรางและอื่นๆ จากประเทศจีนมาสู่ภูมิภาคนี้
ดร. รชฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หรือ CIBA DPU เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเปิดการเรียนการสอนในสาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (บริหารธุรกิจบัณฑิต) นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจโลจิสติกส์อย่างครบวงจร และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับงานโลจิสติกส์ในด้านต่างๆ ที่มักเรียก ว่า IT-based Logistics หรือ e-Logistics เช่น การวางแผนเครือข่ายโลจิสติกส์ การจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติ การบริหารจัดการระบบขนส่งด้วยเทคโนโลยี หรือการจำลองระบบโซ่อุปทานของธุรกิจ เป็นต้น นักศึกษาสามารถร่วมฝึกงานกับบริษัทชั้นนำด้านโลจิสติกส์ต่างๆ ภายในประเทศได้หลากหลาย และนอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ CIBA DPU มีความร่วมมือกับ Xiamen City University ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ศูนย์จัดอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์และเทคโนโลยีทางรางอันดับต้นๆ ของประเทศจีน ซึ่งนักศึกษาในหลักสูตรนี้สามารถไปเรียนเทียบหน่วยกิตที่ประเทศจีน 1 ภาคการศึกษา หรือไปฝึกงานสหกิจศึกษาในสถานประกอบการที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่จีนได้ 1 ปีเต็ม อีกด้วย
นอกจากงานด้านโลจิสติกส์แล้ว ณ วันนี้ ความต้องการแรงงานสายงานด้านบัญชี ก็ยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ตามการฟื้นตัวของภาคธุรกิจจากสถานการณ์โควิด-19 สำหรับหลักสูตรการบัญชียุคดิจิทัล ของ CIBA DPU จัดการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการสร้างนักบัญชีที่มีทักษะซึ่ง ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ไม่สามารถทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านความรู้ (Hard Skill) การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากร และทักษะทางด้านอารมณ์ (Soft Skill) ซึ่งเมื่องานบันทึกด้านบัญชีจะหายไปด้วยการใช้เทคโนโลยีมาทดแทน แต่การใช้ดุลพินิจและการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การนำข้อมูลสารสนเทศมาใช้ปรับปรุงและใช้เป็นข้อมูลในการตัดสิน การพัฒนาระบบงานขององค์กรโดยการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการทำงานเชิงยุทธศาสตร์และเป็นคู่คิดให้กับเจ้าของกิจการได้ ทักษะเเหล่านี้ยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากนักบัญชียุคดิจิทัล
คณบดี CIBA กล่าวเพิ่มเติมว่า บัญชีดิจิทัล CIBA เป็นหลักสูตรเดียวที่ให้นักศึกษา ฝึกงานแบบสหกิจศึกษา ถึง 1 ปีการศึกษา (2 ภาคเรียน) ขณะที่สถาบันอื่นอาจให้ฝึกงานเพียง 1 ภาคเรียนเท่านั้น การที่นักศึกษาเรามีโอกาสฝึกงานเป็นระยะเวลาถึง 1 ปีการศึกษา จะทำให้มีประสบการณ์ในการทำงานจริงและมีทักษะในงานนั้น ๆ อย่างเข้มข้น ซึ่งภาคเอกชนขานรับแนวทางนี้จำนวนมาก โดยหลังฝึกงานนักศึกษาส่วนใหญ่จะได้รับการบรรจุเข้าทำงาน ณ สถานประกอบการนั้น ๆ เลย
สำหรับ 2 หลักสูตรดังกล่าว ระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี เปิดรับผู้ที่จบวุฒิ ม.6 และ กศน. (หรือเทียบเท่า) ส่วนหลักสูตร 2 ปี เปิดรับสมัครผู้จบวุฒิ ปวส.หรือปริญญาใบที่ 2 หรือเทียบเท่า โดยผู้สนใจในทั้ง 2 หลักสูตรดังกล่าว สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797