แนวโน้มเทคโนโลยีที่มาแรงอย่างเช่น AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ กำลังบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมาทดแทน (Disrupt) งานของมนุษย์บางอย่าง โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำ ๆ เหมือนเดิม (Routine) และงานด้านการบริการ เช่น Call center หรือ Teller เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกทดแทนก่อนอาชีพอื่นๆ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปิดตัว ChatGPT กลับพบว่าแนวโน้มของการ Disrupt อาจเร็วขึ้นรวมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง อาทิ พฤติกรรมผู้บริโภค การต้องการลดต้นทุนของเจ้าของกิจการ เทคโนโลยีที่พร้อมใช้งานได้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เช่น Covid-19 ที่เป็นตัวกระตุ้นให้คนหันมาพึ่งการใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากเรามองในอีกมุมหนึ่ง จะพบว่าเราสามารถใช้งาน AI เป็นตัวช่วยที่ดีและรวดเร็วในการทำงานของเราได้ ทำให้อาชีพหรือทักษะใหม่ในการทำงานร่วมกับ AI เช่น “Prompt Engineer” สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับคนที่มีทักษะด้านนี้ได้อย่างมาก
ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU ได้กล่าวถึง Prompt Engineer ว่า อาชีพหรือทักษะนี้ทำหน้าที่สื่อสารกับ AI ให้ทำงานหรือผลลัพธ์ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการเขียนข้อความหรือชุดคำถามหรือชุดสั่งการให้ AI เข้าใจและสามารถตอบคำถามหรือดำเนินการให้ตรงตามความต้องการหรือปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างแม่นยำหรือตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้งาน ChatGPT หรือ Bard หรือ แชตบอทอัจฉริยะอื่น ๆ เป็นต้น เพราะโดยปกติแล้ว AI ที่เราคุยด้วยหรือทำงานด้วยจะเปรียบเสมือนคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักวิธีคิดของเรา ดังนั้นการสื่อสารหรือสั่งการที่ซับซ้อนก็จะมีขั้นตอนหรือกระบวนการบางอย่าง เช่นเดียวกับที่เราต้องสื่อสารกับคนอื่นๆ ที่เพิ่งรู้จักกัน โดยคนที่จะมาเป็น Prompt Engineer ต้องมีองค์ความรู้หลักที่ถูกต้องและมีความเชี่ยวชาญในการพูดคุยกับ AI ผ่านคำถามหรือคำสั่งที่ป้อนเข้าไป หากถามแบบไม่ชัดเจนไม่มีหลักการ ก็จะได้คำตอบกลับมาที่ไม่ตรงตามความต้องการหรือผิดพลาดไปเลย อย่างไรก็ตามอาชีพ Prompt Engineer เป็นที่ฮือฮาในต่างประเทศเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและมีรายได้ค่อนข้างสูง แต่ยังไม่ปรากฎอาชีพนี้ในประเทศไทย
คณบดี CITE DPU กล่าวเพิ่มเติมว่า ChatGPT หรือ Bard นั้นเป็น AI ที่เป็น Chatbot ที่มีฐานความรู้มากมายมหาศาลจากการเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต และสามารถรวบรวมข้อมูลหรือความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นคำตอบให้เราได้ ส่วนคำตอบจะถูกต้องหรือตรงกับความต้องการของผู้ถามหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ป้อนคำถาม หากผู้ป้อนคำถามไม่มีองค์ความรู้ในการจัดการชุดคำสั่งที่ถูกต้องเพื่อป้อนข้อมูลให้กับ AI ในการตอบ ChatGPT คำตอบที่ได้อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลที่ต้องการ เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวหากไม่มีความรู้ และเชื่อคำตอบจาก AI ทั้งหมด อาจเจอปัญหาในการใช้ AI ไปในทางที่ไม่ถูกต้องหรือได้ข้อมูลที่ผิดพลาดเพราะมั่นใจและเชื่อประสิทธิภาพของ AI มากเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกของ AI สิ่งที่จำเป็นต้องมี Knowledge หลัก ๆ ที่สำคัญในอาชีพนั้น ๆ จึงจะสามารถใช้งาน หรือสั่งการควบคุม AI เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยงานเราได้ต่อไป
ดร.ชัยพร กล่าวอีกว่า เพื่อเตรียมรับมือกับเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่าง AI โดยวิทยาลัย CITE รวมทั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU ได้เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาโดยมีการเพิ่มทักษะเรื่อง Prompt Engineer ให้นักศึกษาสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ที่กำลังมาแรงนี้ได้ นอกจากนี้ทุกรายวิชาที่สอนเน้นความทันสมัยนำไปปฏิบัติและใช้งานได้จริง ที่สำคัญก่อนจบการศึกษา นักศึกษาต้องทำ Senior Project เพื่อให้ได้มาตรฐานการศึกษา และต้องทำโครงการสหกิจศึกษาหรือฝึกงานอีก 4 เดือน เพื่อฝึกประสบการณ์และสัมผัสบรรยากาศในการทำงานจริง เพื่อพัฒนาทักษะและประสบการณ์ที่สำคัญให้นักศึกษาให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://cite.dpu.ac.th/
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ