คณบดี CIBA DPU เผยความคืบหน้า โครงการ GSB Step & Boost up Program 2023 อยู่ระหว่างลงพื้นที่เยี่ยม ผปก.80 ราย ทั่วประเทศ อีก 2 เดือนเตรียมคัดเหลือ 10 ราย เข้าประกวดสุดยอด GSB Change Maker ชิงเงินรางวัลพร้อมโล่ 3 พ.ย.นี้
ธนาคารออมสิน ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมบริหารธุรกิจและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) หรือ DPU จัดโครงการ GSB Step & Boost up Program 2023 หรือโครงการอบรมให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ภายใต้คอนเซ็ป “Sustainable Growth ให้ทุกธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน” มีผู้ประกอบการ SMEs OTOPs และ Startups ที่ดำเนินธุรกิจด้านธุรกิจอาหาร ธุรกิจสุขภาพ และธุรกิจการเกษตร สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 700 กว่าราย เพื่อชิงทุนพัฒนาธุรกิจพร้อมโล่รางวัลมูลค่ากว่า 360,000 บาท
ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมบริหารธุรกิจและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า โครงการ GSB Step & Boost up Program 2023 เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 โดยรอบแรกทุกคนได้ผ่านการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตามหัวข้อที่กำหนด อาทิ เรื่องหลักการแนวคิดนักธุรกิจยุคใหม่ การพลิกโฉมธุรกิจด้วยการตลาดดิจิทัล การขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นต้น สำหรับความคืบหน้าล่าสุดหลังจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว ได้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจำนวน 80 ราย ทั่วประเทศ เพื่อเข้ารับคำปรึกษาเชิงลึก Biz Clinic จากผู้เชี่ยวชาญจากฝ่ายพัฒนาธุรกิจลูกค้า SMEs Start up ธนาคารออมสินและทีมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจาก CIBA DPU
สำหรับปีนี้ นอกจาก CIBA DPU ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยเครือข่ายเข้าร่วมในโครงการฯพร้อมลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกให้กับผู้ประกอบการด้วย ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ลงพื้นที่ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่ภาคอีสาน มหาวิทยาลัยบูรพา ลงพื้นที่ภาคตะวันออก และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ลงพื้นที่ภาคใต้ ส่วน CIBA DPU รับผิดชอบดูพื้นที่ส่วนกลาง โดยหลังจากนี้ประมาณ 2 เดือนคณะกรรมการจากธนาคารออมสินและ CIBA DPU จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและโดดเด่นจาก 80 รายให้เหลือเพียงจำนวน 10 ราย เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมประกวดสุดยอด GSB Change Maker โดยผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะได้ Pitching แผนธุรกิจในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ณ ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อชิงทุนนำไปต่อยอดธุรกิจในอนาคต พร้อมสิทธิพิเศษจากทางธนาคารและมหาวิทยาลัยอีกมากมาย
ดร. รชฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นให้คำปรึกษาและแนะนำแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการพบว่า ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีการนำองค์ความรู้ทางการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงต้องการผู้เชี่ยวชาญให้มาพัฒนาธุรกิจในด้านต่างๆ โดยมี 5 โจทย์หลัก คือ 1. การพัฒนาการวางแผนการตลาดออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการตลาด Tiktok, Facebook, Shopee, Lazada เป็นต้น 2. การพัฒนานวัตกรรมสินค้าให้แตกต่างกับสินค้าอื่นๆ ในท้องตลาด และ การยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้เก็บได้นานขึ้น (เพื่อให้สามารถนำไปขายใน Marketplace ได้) 3. การพัฒนากระบวนการการผลิตให้ได้มาตรฐาน เช่น อ.ย. หรือ GMP เป็นต้น 4. การพัฒนา Packaging ให้ดูดีขึ้นและสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากขึ้น และ 5. การนำวัสดุจากชุมชน หรือ วัสดุที่เหลือจากกระบวนการการผลิตมาใช้ใหม่ เพื่อลดต้นทุนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนต่อธุรกิจ
“สำหรับปัญหาที่พบและทำให้ SMEs ไม่สามารถเติบโตไปได้ไกล คือ ผู้ประกอบการยังยึดหลักการทำธุรกิจแบบเดิมๆ คือ ผู้ประกอบการหรือเจ้าของ ต้องทำงานเองทุกอย่าง ตั้งแต่ งานสั่งซื้อวัตถุดิบ งานผลิตสินค้า งานการตลาด งานจัดส่ง และการบัญชีการเงิน ทำให้ ผู้ประกอบการเหนื่อยกับการพยายามทำงานทุกอย่าง จึงอยากให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนความคิด (Mindset) ใหม่ อยากให้มองภาพให้กว้างมากขึ้น คือ ให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้คล่องตัว นั่นคือ ต้องมี Outsource ให้ Partner เข้ามาช่วยในด้านที่เราไม่ถนัด เช่น การทำการตลาด การทำบัญชี การจ้างผลิตผ่าน OEM เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการไปโฟกัสกับการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ นวัตกรรมตัวสินค้า เป็นต้น นั่นคือ หากยังดำเนินธุรกิจแบบเดิมโดยทุกอย่างทำเองหมด ธุรกิจจะไม่สามารถเติบโตได้และกลายเป็นเพียงธุรกิจในครอบครัวหรือในชุมชนเท่านั้น” ดร. รชฏ กล่าว
ดร. รชฏ กล่าวด้วยว่า ปัญหาหลักของผู้ประกอบการ คือ เรื่องเงินทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ ผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรืออยู่ในรูปแบบของบริษัท หรือมีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายที่ดี ทำให้ธนาคารไม่สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อรวมถึงการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของธนาคารได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถจ้าง Partner ให้มาช่วยงานได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการเหนื่อยกับการทำธุรกิจเองในทุกๆ ด้านที่กล่าวมาตอนต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาถึงการจดทะเบียนหรือการทำบัญชีที่ดี เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจตัวเองให้มากยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการอาจขอคำปรึกษากับที่ปรึกษาทางธุรกิจ ร่วมกับธนาคารผู้ให้สินเชื่อ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์แผนธุรกิจในเชิงลึก หากธุรกิจมีศักยภาพ และมีคำแนะนำจากที่ปรึกษาที่ดี จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการเหนื่อยน้อยลงและธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วขึ้นและยั่งยืนเป็นอย่างมาก
หากผู้ประกอบการทั่วไป สนใจอยากได้ข้อมูลด้านการพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม ทาง CIBA DPU ยินดีเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง ทั้งเรื่องสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารออมสิน และการการหาคู่ค้า (Partner) เข้ามาให้คำปรึกษาและ Support ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจของทุกท่านเติบโตอย่างยั่งยืน
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ