หนึ่งในหัวข้อสำคัญของการพูดคุยของสภาฟีฟ่า ในการประชุม FIFA Council เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ก่อนที่ การประชุมฟีฟ่า คองเกรส ครั้งที่ 74 ที่ประเทศไทย จะเริ่มขึ้น คือ การให้ชาติสมาชิกเดินหน้าอย่างจริงจังในการพัฒนาฟุตบอลเยาวชน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลก U17 ที่จะทำการแข่งขันตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป
“มาดามแป้ง” นายกสมาคมฯ กล่าวถึงภาพรวมทั้งหมดกับกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเยาวชน ว่า “เป็นภาพบรรยากาศที่น่าประทับใจมาก แป้ง เชื่อเสมอว่าเด็กวันนี้ คือ อนาคตของประเทศในวันหน้า การที่ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์กับผู้เล่นระดับโลกแบบนี้ เช่นผ่านโครงการ FIFA Legacy Program จะเติมเต็มหัวใจ ความสุข และ แรงบันดาลใจ ให้ทุกคนเติบโตไปมีเส้นทางชีวิตที่ดีต่อไป ไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอลเท่านั้น และ ยืนยันว่า สมาคมฯ จะหาโอกาสต่อยอดกิจกรรมแบบนี้ต่อเนื่อง“
- ผลักดัน ช้างศึก U17 สู่ เป้าหมายสูงสุด ฟุตบอลโลก 2025 ที่กาตาร์
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารงานของ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนมาโดยตลอด เพราะนี่คือรากฐานของฟุตบอลไทยที่จะสามารถต่อยอดไปสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ในอนาคต และเพื่อให้ทีมชาติไทยของเรามีความพร้อมที่สุดสำหรับทัวร์นาเมนต์สำคัญระดับนานาชาติที่จะเกิดขึ้น
โดยในปี 2024 ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี จะมี 2 รายการสำคัญ เริ่มจาก ศึกชิงแชมป์อาเซียน ที่อินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2567 ต่อด้วย ชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก ในฐานะเจ้าภาพ (ชลบุรี) ระหว่างวันที่ 19-27 ตุลาคม 2567 เพื่อหาทีมผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย ที่ซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 3-20 เมษายน 2568 โดยจะคัดเลือก 9 ทีม ไปเล่นฟุตบอลโลก 2025 ที่กาตาร์ ต่อไป
และ ที่ผ่านมา สมาคมฯ ก็เดินหน้าเตรียมทีมชาติไทย U17 เต็มที่ โดยเฉพาะผ่านโครงการ FIFA Talent ID ที่ทำร่วมกับ ฟีฟ่า อย่างต่อเนื่อง ผ่านการเดินทางไปคัดเด็กทั่วประเทศ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลสำคัญของ สมาคมฯ รวมถึงล่าสุดยังมีการพิจารณาจากฝ่ายเทคนิค แต่งตั้ง จเด็จ มีลาภ เข้ามาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนอย่างเป็นทางการ ด้วยคุณสมบัติที่เหมาะสมครบถ้วน มีประสบการณ์ทั้งในระดับฟุตบอลเยาวชน , อาชีพ และ ทีมชาติไทย
- FIFA Legacy Program ตำนานระดับโลกสร้างแรงบันดาลใจเด็กไทย
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ต่อยอดโครงการพัฒนาต่างๆ กับทาง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า โดยเฉพาะการวางรากฐานพัฒนาฟุตบอลเยาวชน ซึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกจัดขึ้นผ่านกิจกรรม FIFA Legacy Program ในช่วง การประชุมฟีฟ่า คองเกรส โดยการนำเหล่าบรรดาตำนานนักเตะชื่อดังระดับโลก มาร่วมเล่นฟุตบอลกับน้อง ๆ เยาวชนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ อาทิ ซามี เคดิร่า, มิคาเอล ซิลแวสต์, ซามี อัล จาเบอร์, จอห์น โอบี มิเกล, ฮาเวียร์ ซาเน็ตติ,โรเก้ จูเนียร์, คริสติยอง การอมเบอ, กิลแบร์โต้ ซิลวา, และ คาฟู รวมถึงกลุ่มนักเตะดาวดังทีมชาติไทย นำโดย ธีรเทพ วิโนทัย , ชนาธิป สรงกระสินธ์ , ธีรศิลป์ แดงดา และ ธนบูรณ์ เกษารัตน์ ตอกน้ำภาพที่แสดงให้เห็นว่า สมาคมฯ และ ฟีฟ่า มีวิสัยทัศน์ตรงกัน คือ การให้ความสำคัญกับเยาวชน
- FIFA Football for Schools ถ่ายทอดศาสตร์ลูกหนังครูพลศึกษาสู่ฟุตบอลระดับโรงเรียน
เช่นเดียวกับ โครงการ FIFA Football for Schools ได้ถูกจัดขึ้นเป็นระยะเวลาปีกว่า โดยจัดการฝึกอบรมแก่ครูพลศึกษาทั่วงประเทศ และก่อนที่การประชุม ฟีฟ่า คองเกรส ครั้งที่ 74 จะเริ่มขึ้น ได้มีการจัดฝึกอบรมอีกครั้ง ณ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอล ภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เพื่อถ่ายทอดศาสตร์ลูกหนังให้กับ อาจารย์พลศึกษา จำนวน 33 คน นำไปถ่ายทอดสู่เยาวชน ในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา ต่อไป
- FIFA Talent Development Scheme การพัฒนาโครงสร้างพัฒนาเยาวชน
โครงการ FIFA Talent Development Scheme ถือเป็นสารตั้งต้นของโครงการ “Grow Together” ที่ สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. และ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ร่วมกันทำหลักสูตรสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ของฟุตบอล ที่ FIFA โดย อาร์แซน เวนเกอร์ ประธานพัฒนาเทคนิคของ FIFA และอดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ออกแบบและพัฒนาจนได้มาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรก ที่ได้นำหลักการพัฒนานี้มาใช้
เริ่มจาก โครงการ Talent Identification ที่สมาคมฯ จัดทีม Scout เพื่อออกไปเฟ้นหานักเตะก่อนคัดเอาเด็กฝีเท้าดีเข้าเก็บตัวเพื่อเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมี กิจกรรม Grassroots ฟุตบอลระดับพื้นฐาน ในเด็กรุ่นอายุ 6-12 ปี ที่เน้นให้ทุกคนสามารถเล่นฟุตบอลร่วมกันได้ ตามปรัชญา “Football for everyone” โดยโค้ชที่ฝึกสอน จะต้องมี จี ไลเซนส์ เช่นเดียวกับ การแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์ ยูธลีก รุ่นอายุ 14,16 และ 18 ปี ที่จัดแข่งขัน ผู้ฝึกสอน จะต้องถือ ซี ไลเซนส์
- FIFA Amateur Football Analysis การพัฒนาฟุตบอลสมัครเล่นและฟุตบอลรากหญ้า
โครงการ FIFA Amateur Football Analysis หรือ การวิเคราะห์ วิจัย โครงสร้างของฟุตบอลรากหญ้า ในประเทศไทย ในทุกรายการ ทั้งรายการสมัครเล่น, รายการฟุตบอลเด็กต่างๆ บอลนักเรียน, บอลอาวุโส รวมถึงฟุตซอล และ ฟุตบอลชายหาด ซึ่งสมาคมฯ จะต้องพยายามศึกษาวิจัย เพื่อหาข้อมูลทั้งหมด และนำมาวางกลยุทธ์ ให้การเล่นฟุตบอลทุกประเภทมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- FIFA Women Football Development การพัฒนาฟุตบอลหญิง
โครงการ FIFA Women Football Development จะเป็นโครงการที่สอดคล้องกับ Talent Identification ของฟุตบอลชาย ที่จะส่งสตาฟฟ์โค้ชของสมาคมเดินทางไปเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบ Talent ID แล้วนำมาเก็บตัวฝึกซ้อมภายใต้การดูแลของโค้ชเยาวชนมืออาชีพอย่างใกล้ชิด ก่อนคัดเอาเด็กผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถไปเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลรายการระดับนานาชาติ รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ซึ่งจะเริ่มต้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 นี้ โดยมีเป้าหมายในไปเล่นฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ในอนาคตต่อไป
- FIFA MA Coach Educator Pathway การอบรมวิทยากรผู้สอน
FIFA MA Coach Educator Pathway คือการจัดการอบรมวิทยากรผู้ฝึกสอน เพื่อเพิ่มคุณภาพ และ ปริมาณของวิทยากร เพื่อให้ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ สามารถจัดการอบรมผู้ฝึกสอน ในระดับต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการ โดยสิ่งสำคัญคือเรื่องของปรัชญา ที่ต้องพยายามทำให้สอดคล้องกับการพัฒนานักกีฬา รวมถึง ปรัชญาการพัฒนาฟุตบอลภายในประเทศ ที่ต้องอยู่ในทิศทางเดียวกัน
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอขอบคุณ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า, รัฐบาลไทย , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. และ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) , กรมพลศึกษา และทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนฟุตบอลไทย ผ่านโครงการต่างๆ อย่างเต็มที่..
สุดท้ายนี้ กับการก้าวสู่ปีที่ 109 ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารของ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมฯ พร้อมที่จะสนับสนุน ผลักดัน และสานต่อทุกๆ ความร่วมมือ และต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่รวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนฟุตบอลไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสุดกำลัง “Better Together Team Thailand”
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ