ค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ต้นทุนขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวต่อเนื่อง และราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่สูงขึ้นกว่างวดก่อน และยังต้องจ่ายคืนต้นทุนคงค้าง ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึงต้องจ่ายค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 กันยายน 2566 ส่งผลให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดทำ 3 ทางเลือกมาเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย หากต้องการคงค่าไฟฟ้าเท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย ต้องใช้เงิน 28,000 ล้านบาท
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า การคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่างวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค.67) เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจากงวดก่อนหน้า ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (LNG Spot) เพิ่มขึ้น ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในเมียนมาลดลง การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศและต่างประเทศ และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแม่เมาะซึ่งมีต้นทุนราคาถูกผลิตลดลง รวมถึงการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้า และการคืนเงินค้างชำระค่า Ft ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศเทศไทย (กฟผ.) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในช่วงปลายปีนี้เพิ่มขึ้น
โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซฯ ในอ่าวไทย และ LNG Spot มีราคาสูงขึ้น ขณะที่ LNG Spot ในตลาดโลกในช่วงปลายปีคาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 13 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จากปัจจุบันอยู่ที่ 10-12 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู แม้ว่าปริมาณการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยกลับมาสู่ภาวะปกติ โดยมีปริมาณการผลิตทุกแหล่งรวมเฉลี่ย 2,184 ล้านบีทียูต่อวัน แต่ก๊าซฯ จากแหล่งในเมียนมาร์ มีปริมาณลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 468 ล้านบีทียูต่อวัน จากงวดก่อนหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 483 ล้านบีทียูต่อวัน ส่งผลต้องมีการนำเข้า LNG Spot เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศและต่างประเทศ และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแม่เมาะซึ่งมีต้นทุนราคาถูกผลิตลดลง เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้า (AF gas) ประมาณ 15,000 ล้านบาท และการคืนหนี้ค่า Ft คงค้างให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 98,495 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในช่วงปลายปีนี้จะต้องปรับเพิ่มจากงวดปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
โดย กกพ.ได้คำนวณค่า Ft ออกมาเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 งวด ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย ประกอบด้วย ค่า Ft ที่สะท้อนต้นทุน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย ค่า AF gas จำนวน 15,083.78 ล้านบาท คิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้างของ กฟผ. ในงวดเดียว จำนวน 98,495 ล้านบาท คิดเป็น Ft จำนวน 163.39 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 113.78 สตางค์ต่อหน่วย ประกอบด้วย ค่า Ft ที่สะท้อนต้นทุน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย ค่า AF gas จำนวน 15,083.79 ล้านบาท คิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้างของ กฟผ. ทยอยจ่ายเป็น 3 งวด ๆ ละ 32,832 ล้านบาท คิดเป็น Ft จำนวน 54.46 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ. จะลดเหลือ 65,663 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย ประกอบด้วย ค่า Ft ที่สะท้อนต้นทุน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย ค่า AF gas จำนวน 15,083.79 ล้านบาท คิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้างของ กฟผ. ทยอยจ่ายเป็น 6 งวด ๆ ละ 16,416 ล้านบาท คิดเป็น 27.23 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ. จะลดเหลือ 82,079 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย
โดยสำนักงาน กกพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค. 2567 และจะต้องมีการหารือกับฝ่ายนโยบายก่อนว่าจะมีนโยบายเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในงวดนี้อย่างไร หากจะมีการตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้เท่างวดปัจจุบันที่ 4.18 บาทต่อหน่วย จะต้องใช้เงินประมาณ 28,000 บาท ซึ่งน่าจะมาจากส่วนที่จะมีการจ่ายคืนหนี้คงค้าง กฟผ. และค่า AF gas ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
นอกจากนี้ ดร.พูลพัฒน์ ยังกล่าวเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายๆ ตามหลัก 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 และ ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของตัวผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ