(19 ก.ค.2567) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีการหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานซึ่งประกอบด้วย ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานบอร์ดกฟผ. นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ซีอีโอ ปตท. และ ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)
โดยภายหลังการหารือ นายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบถึงการตรึงค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2567 ไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยหรือเท่ากับค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทาง กฟผ.และ ปตท. ในการช่วยแบกรับภาระด้านรายได้ เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน
ในการหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า งวดเดือน ก.ย. -ธ.ค. 2567 นายพีระพันธุ์ ได้มอบให้ กกพ. พิจารณาทบทวนโครงสร้างต้นทุนสำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ใหม่ เนื่องจากในการเจรจาหาแนวทางร่วมกับ กฟผ.และ ปตท.เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ทาง ปตท.จะยังไม่รับชำระค่าใช้จ่ายในงวดเดือน ก.ย. -ธ.ค. 2567 ส่วน กฟผ.จะรับรายได้เพียง 0.05 บาทต่อหน่วยจึงทำให้สามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยสำหรับงวดเดือน ก.ย. -ธ.ค. 2567 โดยกระทรวงพลังงานเตรียมจะนำเสนอแนวทางการตรึงค่าไฟฟ้าในระดับ 4.18 บาทต่อหน่วยภายใต้แนวทางการบริหารจัดการภาระค่าเชื้อเพลิงร่วมกับ กฟผ. และ ปตท.เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 ก.ค.ที่จะถึงนี้
สำหรับภาระต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. มียอดสะสมอยู่จำนวน 98,495 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง หรือ AFGAS ที่ทั้ง กฟผ.และ ปตท.ร่วมกันแบกภาระจำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 188.41 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งในภาระดังกล่าวเมื่อไม่ได้รับการทยอยจ่ายคืนตามข้อเสนอรับฟังความคิดเห็นของ กกพ. ที่มี 3 ทางเลือก คือ 1.ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4.18 บาทต่อหน่วยเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย 2.ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4.18 บาทต่อหน่วยเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย และ 3.ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4.18 บาทต่อหน่วยเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย ก็จะถูกยกยอดไปคิดในการคำนวณค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2568 ดังนั้นแนวทางการตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 จึงเป็นเพียงการยกยอดภาระในงวดนี้ไปจ่ายงวดหน้า ซึ่งในที่สุดประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องเป็นผู้ทยอยจ่ายคืนทั้งหมดบวกด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ทาง กฟผ.ไปกู้สถาบันการเงินมาเพื่อให้มีสภาพคล่องในการรับภาระแทนประชาชนเอาไว้ก่อน
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ