วันเสาร์, 5 เมษายน 2568

SEA-ACN เปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “การประสานมาตรฐานคำนิยามบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs)” ในอาเซียน (มาเลเซียและไทย)

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Anti-Corruption Network: SEA-ACN) ของกลุ่ม Open Data ได้จัดการประชุมโต๊ะกลมออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “การประสานมาตรฐานคำนิยามบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs) ในอาเซียน (ไทยและมาเลเซีย)” โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับนิยามของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (Politically Exposed Persons: PEPs) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการทุจริตและการฟอกเงิน อีกทั้งถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการต่อต้านการฟอกเงินและคอร์รัปชันในระดับภูมิภาค

SEA-ACN เป็นเครือข่ายที่มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านความร่วมมือของภาคสังคม โดยให้ความสำคัญกับ 4 ด้านหลัก ได้แก่

  1. ข้อมูลเปิด (Open Data)
  2. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement)
  3. การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower Protection)
  4. การยึดหลักคุณธรรมในภาคธุรกิจ (Business Integrity)

ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา กลุ่ม Open Data ของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน (SEA-ACN) ซึ่งประกอบด้วย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (Knowledge Hub for Regional Anti-Corruption Collaboration and Good Governance Promotion: KRAC), Sinar Project (ประเทศมาเลเซีย), บริษัท วีวิซ เดโม จำกัด และบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้ร่วมกันศึกษาการกำหนดนิยามบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs) ในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเริ่มจากประเทศไทยและประเทศมาเลเซียเป็นกรณีศึกษา

2-Press-Release

สำหรับการประชุมโต๊ะกลมออนไลน์ในครั้งนี้ได้แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. การนำเสนอผลการศึกษา
    ในหัวข้อ “การประสานคำนิยามบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs) ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก 3 องค์กร ได้แก่
  • คุณ Kharil Yusof ผู้ประสานงานจากองค์กร Sinar Project ประเทศมาเลเซีย
  • คุณวิถี ภูษิตาศัย ผู้ร่วมก่อตั้งและ Technical Lead จากบริษัท วีวิซ เดโม จำกัด
  • คุณณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันของศูนย์ KRAC
  1. การให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ
    โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน ได้แก่
  • คุณ Pushpan Murugiah ผู้บริหารองค์กร Centre to Combat Corruption and Cronyism (C4 Centre)
  • คุณ Ato ‘Lekinawa’ Costa ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งติมอร์-เลสเต
  • คุณกิตติเดช ฉันทังกูล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
    รวมถึงความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานต่างชาติ ได้แก่ Politics for Tomorrow | Open Gov Network Germany (OGP)

ประเด็นสำคัญจากการเสวนา

  • ณัฐภัทร เนียวกุล นำเสนอเรื่อง “การนิยามบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (Definition of PEPs)” โดยกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างนิยามร่วมในภูมิภาคตามมาตรฐานของ Financial Action Task Force (FATF) เนื่องจากพบว่า นิยามของ PEPs ในแต่ละประเทศยังแตกต่างกัน เช่น ประเทศไทยแบ่ง PEPs ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ขณะที่ประเทศมาเลเซียใช้เกณฑ์ FATF โดยตรง จึงควรมีมาตรฐานกลางเพื่อให้การตรวจสอบและแลกเปลี่ยนข้อมูลมีความแม่นยำ
  • วิถี ภูษิตาศัย นำเสนอเรื่อง “ความสำคัญของ Data Standard ที่เชื่อมโยงกับ PEPs” โดยยกตัวอย่างการนำมาตรฐานข้อมูล Popolo มาพัฒนาแพลตฟอร์ม Parliament Watch เพื่อจัดระเบียบข้อมูลนักการเมืองไทยให้ตรวจสอบได้ง่ายและรองรับหลายภาษา
  • Kharil Yusof นำเสนอเรื่อง “ความร่วมมือระหว่างองค์กรในการกำหนดมาตรฐานข้อมูล PEPs” โดยแบ่งปันประสบการณ์ของ Sinar Project ประเทศมาเลเซีย ในการใช้มาตรฐานข้อมูลเดียวกันกับองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศเมียนมา เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบความเชื่อมโยง และแสดงผลในรูปแบบกราฟเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายหลังการบรรยาย ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็น เช่น

  • คุณ Ato ‘Lekinawa’ Costa มองว่างานศึกษานี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ยังมีข้อจำกัดด้านภาษา เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้
  • คุณกิตติเดช ฉันทังกูล สะท้อนว่า ฐานข้อมูล PEPs ในประเทศไทยเข้าถึงได้เฉพาะสถาบันการเงิน ทำให้ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนตรวจสอบได้ยาก พร้อมเสนอให้เปิดกว้างมากขึ้น และควรพิจารณากฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) ควบคู่กัน รวมถึงเสนอให้รวมตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจไว้ในนิยาม PEPs ด้วย

ก้าวต่อไปของ SEA-ACN จะเดินหน้าผลักดันการประสานมาตรฐานคำนิยาม PEPs ไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการใช้ข้อมูลเปิดเพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริต โดยมีแผนจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งถัดไป มุ่งเน้นประเด็น ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในภูมิภาคเอเชีย

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : เพจ KRAC Corruption


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
CIBA DPU จับมือ ออมสิน เปิดโครงการ ‘ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2568’ ปีที่ 7 หนุนนักศึกษาลงพื้นที่ นนทบุรี-นครปฐม พลิกโฉมผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจฐานราก
SIHOO จัดงาน “2025 SIHOO แบรนด์สู่ตลาดโลก” ประกาศเปิดตัว SIHOO Thailand อย่างเป็นทางการ มุ่งสู่แบรนด์เก้าอี้เพื่อสุขภาพอันดับ 1 ในประเทศไทย
สายการบินไชน่าแอร์ไลน์ ลงนามสรุปสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ350-1000 จำนวน 10 ลำ
ทรู คอร์ปอเรชั่น เร่ง กสทช. เดินหน้าประมูลคลื่นความถี่ตามแผนเดิม หนุนไทยขึ้นแท่นดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาค
โครงการมูลนิธิยาเพื่อนยาก บ้านหมอละออง ครั้งที่ 18 “รำลึกถึงบุญคุณและสานต่อสังคมแห่งการให้”
ตู้เย็นไฮเซ่นส์ Vacuum Pure Fresh (RQ667) ได้รับรางวัลจาก“Business+ Product Innovation Awards 2025” ในหมวดตู้เย็น สะท้อนนวัตกรรมล้ำสมัย