วันพฤหัสบดี, 10 เมษายน 2568

ก.อุตฯ มอบของขวัญปีใหม่ จัดมาตรการช่วยลดภาระ ลดต้นทุนผู้ประกอบการเติมสินเชื่อเสริมสภาพคล่องการดำเนินธุรกิจ พร้อมยกระดับผู้ประกอบการ ดูแลเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน เร่งพิจารณาแผนงาน/โครงการในความรับผิดชอบที่สมควรจะดำเนินการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2564 ให้แก่ประชาชนดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา และให้นำเสนอแผนงาน/โครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและสอดคล้องในภาพรวม กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการและผู้ประกอบการ จึงได้จัดของขวัญปีใหม่เพื่อมอบให้ประชาชนและผู้ประกอบการ

เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระต้นทุนเนื่องในโอกาสปีใหม่ 2564 โดยจัดโครงการต่างๆ แบ่งเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการ ลดภาระ ลดต้นทุนผู้ประกอบการ 2. ด้านการเสริมสภาพคล่องการดำเนินธุรกิจ 3. การยกระดับผู้ประกอบการ และ 4. การดูแลเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ  โดยมีรายละเอียดการดำเนินงาน ดังนี้ 
1. ด้านการลดภาระ ลดต้นทุนผู้ประกอบการด้วย 1.1) การยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักร โดยขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการจัดทำกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร  พ.ศ. …  โดยเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักรตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 ให้เป็นระยะเวลาหนึ่งปี มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
ร่างกฎกระทรวงได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 และผ่านการตรวจพิจารณาโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้แจ้งเรื่องกลับมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามในกฎกระทรวง และนำไปออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ประมาณการว่าจะสูญเสียรายได้จากการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักรในครั้งนี้ประมาณ 2 ล้านบาท  
1.2) ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก./ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและบริการ ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อาทิ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. ค่าตรวจโรงงาน ค่าใช้จ่ายการตรวจติดตามผลหลังการอนุญาต ค่าธรรมเนียมและค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใบรับรอง ยกเว้นค่าแปลใบอนุญาต/ใบรับรอง ค่าทดสอบผลิตภัณฑ์ มอก. S เป็นต้น  ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ 10 ตุลาคม 2563 จนถึง 30 เมษายน 2564 โดยคิดเป็นมูลค่าที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมด กว่า 111 ล้านบาท
1.3 ) ลดค่าบริการการใช้ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี ของสถาบันอาหาร โดยลดค่าบริการการใช้ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี (โลหะหนัก สารหนู ปรอท ยาฆ่าแมลง) จุลชีววิทยา เชื้อก่อโรคที่อาจปนเปื้อนมาในอาหาร /บริการสอบเทียบเครื่องมือวัด ลด 25% จำนวน 250 สิทธิ์ สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหารขนาดเล็ก 
1.4) มาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพลดหย่อนภาษี 1.25 เท่า โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ด้วยการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 1.25 เท่า สำหรับผู้ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ซื้อคนแรกสามารถนำรายงานการซื้อสินค้า ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม และใบรับรองผลิตภัณฑ์ฯ จาก สศอ. ยื่นขอลดหย่อนภาษีได้
1.5) แจกซอฟแวร์ฟรีสำหรับเอสเอ็มอีไทย โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จำนวน 29 โปรแกรม ให้ใช้ 6 เดือน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ สนับสนุนการใช้ Business Software and Application  เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรม  
 2. เสริมสภาพคล่องการดำเนินธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อ ด้วย  2.1) สินเชื่อ“เสริมพลัง สร้างอนาคต SME ไทย” วงเงิน 1,000 ลบ. ของกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สำหรับ SMEs เพื่อลงทุน ขยาย ปรับปรุง กิจการ หรือเป็นทุนหมุนเวียนสภาพคล่อง กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลากู้สูงสุด ไม่เกิน 7 ปี กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มอุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือทางการแพทย์ หุ่นยนต์/เครื่องจักรอัตโนมัติ ท่องเที่ยว และ Tech Startup โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ 2.2) สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยต้องยื่นคำขอภายใน 31 มีนาคม 2564  
    ลูกค้ารายเดิม 
  1. สำหรับลูกหนี้เดิมที่ชำระเงินปกติ : พักชำระเงินต้น ไม่เกิน 12 เดือน (โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย) และขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ ไม่เกิน 12 เดือน
  2. สำหรับลูกหนี้เดิมที่ค้างชำระไม่เกิน 3 งวด : พักชำระเงินต้น ไม่เกิน 6 เดือน (โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย) และขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ ไม่เกิน 6 เดือน
     ลูกค้ารายใหม่ (สำหรับอุตสาหกรรมรายย่อย ในวงเงิน 100,000 บาท ขึ้นไป) 
          1. ได้สิทธิพักชำระเงินต้น ไม่เกิน 6 เดือน (โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย)
           2. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี
 3. สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมฝึกอบรม หลักสูตร TPS และ TOYOTA KARAKURI KAIZE และ หลักสูตร SMART FACTORY SOLOTION for SMEs 4.0 กับทาง กสอ. มอบสิทธิพิเศษด้านการเงินกับสินเชื่อรายเล็ก Extra Cash และ สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน โดยรับสิทธิพิเศษจาก SMEs BANK
 2.3) สินเชื่อ “จ่ายดี มีเติม” โดย SMEs D BANK สำหรับลูกค้าเดิมที่มีประวัติชำระหนี้ดีจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563  SMEs D BANK เติมทุนเสริมสภาพคล่องให้เพิ่มเติม สูงสุดเท่ากับวงเงินสินเชื่อเดิม และขยายเวลาพักชำระหนี้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย
3.ยกระดับผู้ประกอบการ โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ด้วยบริการฟรีออกแบบบรรจุภัณฑ์ ฉลาก สติกเกอร์ พร้อมจัดทำต้นแบบ พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำกลยุทธ์และเทคนิคการตลาดออนไลน์ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ  
 3.1) บริการประเมินและวินิจฉัยเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรม4.0 โดยสถาบันไทย-เยอรมัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยการเข้าประเมินที่โรงงาน และให้การวินิจฉัยและคำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 1 Man/Day โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
 4.ดูแลเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ ประกอบด้วย 4.1) โครงการเพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยจัดซื้อเครื่องสางใบอ้อยมาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ยืม ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสด ซึ่งสามารถติดต่อขอยืมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายภาค ที่ 1-4 และขยายระยะเวลาชำระคืนหนี้เงินกู้ของโครงการส่งเสริมสินเชื่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร  ปี 2562-2564 และพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 1 ปี และ 4.2) โครงการเหมืองแร่ปลอดภัย ห่วงใยประชาชนปีที่ 4 โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดกิจกรรมตรวจสุขภาพของประชาชน ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถตรวจสุขภาพประชาชนโดยรอบสถานประกอบการเหมืองแร่ได้ไม่น้อยกว่า 30,000 คน พร้อมมอบทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียนให้กับชุมชนรอบเหมือง และ 4.3) ระบบประเมินคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (e-QR) โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่า สินค้าดี มีคุณภาพและได้มาตรฐานหรือไม่ พร้อมทั้งสามารถให้ข้อคิดเห็นหรือร้องเรียนในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานได้
ทั้งนี้ เพื่อให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายสามารถได้รับบริการตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่ม โดยของขวัญเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในผลงานสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่น ขับเคลื่อน ชัดเจน จริงจัง เพื่อเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตลอดมา ซึ่งเชื่อมั่นจะเป็นของขวัญที่ถูกใจผู้ประกอบการและประชาชนผู้รับบริการ