เมื่อวันที่ 11 ม.ค. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒสภา ทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ขอขยายเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ… ออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก 30 วัน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย

สำหรับเนื้อหาหนังสือดังกล่าวสรุปว่า ในคราวประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2564 ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ… เป็นร่างพ.ร.บ.ไม่เกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ร่างพ.ร.บ.มาถึงวุฒิสภา หรือเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2563 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 ก.พ.2564
โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญต่อการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศ และมีสมาชิกวุฒิสภาแปรญัตติ จำนวน 8 คำแปรญัตติ ในจำนวน 4 มาตรา คณะกรรมาธิการฯ จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ
แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังไม่คลี่คลาย จึงควรลดความเสี่ยงการเดินทางและการรวมตัวกันของบุคคลจำนวนมาก ประกอบกับในการพิจารณาร่างพ.ร.บ. คณะกรรมาธิการไม่สามารถจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามนัยของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 86 วรรคสาม (1) ดังนั้น จึงเห็นควรที่วุฒิสภาจะได้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก 30 วัน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ วุฒิสภา กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า นอกจากเหตุผลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมาธิการฯ เสนอขอขยายเวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯเป็นกรณีพิเศษอีก 30 วัน ก็เพื่อรอให้กระบวนการสรรหากรรมการ กสทช. ชุดใหม่เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งคาดว่าจะเป็นในช่วงเดือนก.พ.2564 และจะทำให้กรรมการ กสทช.ชุดใหม่มีเวลาทำงานมากขึ้น
“หากมีการเห็นชอบให้ขยายเวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯออกไป จะประวิงเวลาให้การพิจารณากฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ช่วงปิดประชุมรัฐสภาสามัญ คือ ในวันที่ 28 ก.พ.2563 ได้ ก่อนจะเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ค.2564 ซึ่งจะทำให้กรรมการ กสทช.ที่เพิ่งสรรหามาได้จะมีเวลาทำงานนานขึ้น เพราะทันทีที่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กฎหมายได้กำหนดให้ต้องมีการสรรหากรรมการ กสทช.ชุดใหม่ภายใน 15 วัน” แหล่งข่าวกล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อต้นเดือนพ.ย.2563 พล.อ.อนันตพร อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภาว่า กรณีที่ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ กำหนดให้ต้องมีการสรรหากรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ภายใน 15 วัน หลังจากร่างกฎหมายมีผลใช้บังคับนั้น อาจมีปัญหาได้ เพราะขณะนี้วุฒิสภาอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่เสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกสทช. ซึ่งคาดว่าการสรรหาจะแล้วเสร็จในเดือนก.พ.2564
ดังนั้น หากวุฒิสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 4 ธ.ค.2563 ตามที่วุฒิสภาพกำหนดไว้ หรือแล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.2564 จะทำให้กรรมการ กสทช. ที่เพิ่งสรรหาได้มีเวลาทำงานเพียง 6 เดือน และต้องสรรหากรรมการ กสทช. ชุดใหม่ ซึ่งแม้ว่าร่างพ.ร.บ.จะกำหนดให้สิทธิให้กรรมการ กสทช. ดังกล่าว ลงสมัครเข้ารับการสรรหาใหม่ แต่อาจมีประเด็นที่กระทบต่อการทำงาน กรรมาธิการฯจึงเสนอให้กำหนดบทเฉพาะกาลให้คุ้มครอง กรรมการกสทช. ชุดใหม่ ให้ทำงานให้ครบเทอม หรือ 3 ปี
ส่วนความคืบหน้าในการสรรหากรรมการ กสทช. ล่าสุดคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการประชุมเพื่อรับทราบรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 80 คน รวม 7 ด้าน โดยขั้นตอนจากนี้ คณะกรรมการฯจะเชิญผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. มาแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ ในเวลา 09.00 น. ระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค.2564 ดังนี้
1.วันอังคารที่ 19 ม.ค.2564 ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม
2.วันพุธที่ 20 ม.ค.2564 ด้านวิศวกรรมและด้านกฎหมาย
3.วันพฤหัสบดีที่ 21 ม.ค.2564 ด้านเศรษฐศาสตร์และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน